ดูบทความ
ดูบทความรวมสาระพัด โรคเกี่ยวกับปวดหลังทั้งหมด พร้อมวิธีสังเกตุอาการ
รวมสาระพัด โรคเกี่ยวกับปวดหลังทั้งหมด พร้อมวิธีสังเกตุอาการ
เมื่อเราปวดหลัง คนทั่วไปมักนึกถึงโรคที่เกี่ยวกับหลังอยู่ 2 โรคด้วยกัน คือ หมอนรองกระดูกทับเส้นกับกล้ามเนื้อหลังอักเสบ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้วโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังมีมากกว่านั้น...เยอะมากกกกกกกก กอไก่ร้อยตัวเลยทีเดียว ถ้าให้อธิบายทั้งหมดมันดูเป็นวิชาการจนเกินไป เดี๋ยวเพื่อนๆจะหลับกันซะก่อน ฉะนั้น ผมจึงยกตัวอย่างเพียง 7 โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลัง ที่พบได้บ่อยพบได้มากและมีให้เห็นกันแทบทุกวันในโรงพยาบาล แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้มาฝากกัน โดยเริ่มจากโรคที่เรารู้จักกันดี คือ...
1) โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (herniated disc pulposus : HNP)
ผมจะอธิบายแบบสรุปเลยนะครับ โรคนี้เกิดจากเจลในหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord) หรือรากประสาท (spinal nerve root) ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งพบได้บ่อยมาก ทีนี้ผมจะแนะวิธีการสังเกตุอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกัน
ภาพแสดงหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท
อาการ ของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ปวดหลังรุนแรง ปวดมากจนแทบกระดิกตัวไม่ได้ (ในกรณีที่ทับโดนเส้นประสาทไขสันหลัง)
- ปวดเมื่อไอ จาม เบ่งถ่ายขณะเข้าห้องนํ้า (อันนี้คือหัวใจสำคัญของโรคนี้เลยครับ)
- ไม่สามารถแอ่นหลังได้ ต้องก้มหลังตลอดเวลา ถ้าแอ่นหลังจะปวดมากขึ้น
- ขาชา
- ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างเลย
- บางรายไม่มีอาการปวดหลังเลย แต่จะรู้สึกขาชาอย่างเดียว พอเบ่งถ่ายก็รู้สึกขาชามากขึ้น
- บางรายก็ไม่มีอาการชาขา หรือปวดหลังเลย แต่จะปวดขาอย่างเดียว จะบีบจะนวดขายังไงก็ไม่รู้สึกดีขึ้น รู้สึกปวดขาแบบหน่วงๆ เหมือนขาหนักๆครับ
- หากเป็นมานานขาจะอ่อนแรง ล้มพับง่าย ยืนไม่มั่นคง
- กล้ามเนื้อขาฝ่อลีบ ของมัดที่เส้นประสาทถูกกดทับ
- ในกรณีที่ถูกทับมากๆ แค่พูด ผู้ป่วยก็รู้สึกปวดหลังจนนํ้าตาไหลแล้ว
- ปวดมากเมื่อกดลงไปที่กระดูกสันหลังตรงๆ
รายละเอียดของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทฉับบเต็ม (หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่ใครๆก็รู้จัก)
คลิป VDO (9 วิธีลดปวดหลังด้วยตนเอง จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น)
2) โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน (acute lower back pain)
โรคนี้แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังเลยครับ เกิดจากตัวกล้ามเนื้อหลังของเราล้วนๆ แล้วที่น่าสนใจคือ โรคนี้จะมีอาการคล้ายกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาก เพียงแต่ไม่มีอาการชาเท่านั้น ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหลังของเราถูกใช้งานมากเกินไป จากการก้มๆเงยๆ การยกของหนัก อุบัติเหตุโดนกระแทบที่หลังโดยตรง การเล่นกีฬาอย่างหนัก จนทำให้กล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลันทันที
ภาพแสดงโครงสร้างของกล้ามเนื้อหลังส่วนนอก
อาการ ของโรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
- ปวดตึงหลัง
- รู้สึกปวดหลังแบบกว้างๆ ระบุตำแหน่งชัดเจนไม่ได้ (นี่คือจุดที่แตกต่างระหว่างเป็นที่กล้ามเนื้อกับกระดูกสันหลัง ถ้าเป็นที่กระดูกสันหลังจะระบุตำแหนงที่ปวดได้ค่อนข้างชัด แต่ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อจะรู้สึกปวดกว้างๆ บอกตำแหน่งชัดเจนไม่ได้)
- ผู้ป่วยจะเดินหลังเกร็ง และแอ่นหลังตลอดเวลา
- กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งเป็นลำชัดเจน
- จะก้มหรือแอ่นหลังก็ทำไม่ได้ เพราะปวดตึงหลังไปหมด
- บางรายอาจจะปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือสองข้าง (อาการนี้จะสร้างความสับสนว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น)
- กำลังกล้ามเนื้อขายังคงเป็นปกติ
3) โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (spondylosis)
รู้หรือเปล่าว่า โดยปกติแล้วโรคกระดูกสันหลังเสื่อมในระยะแรกจะไม่มีอาการปวดใดๆเลยนะ ผู้ป่วยจะมามีอาการปวดหลังก็ต่อเมื่อข้อต่อ facet joint ที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกสันหลังชิ้นบนกับชิ้นล่างไว้ด้วยหัน เกิดเสื่อมลงมากจนทรุดตัวแล้วนั่นแหละครับ ถึงจะเริ่มมีอาการปวดหลัง นอกจากนี้ ยังเกิดจากกระดูกงอก (หรือเรียกว่าหินปูนก็ได้) ที่เกิดจากการซ่อมแซมกระดูกสันหลังที่เสื่อมลง เกิดงอกมากเกินไปจนไปกดทับรากประสาทสันหลังเข้า ทำให้มีอาการขาชาได้ไม่ต่างจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเลยทีเดียว
ภาพแสดงตำแหน่งการเสื่อมของข้อต่อ facet joint
อาการ ของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- ในระยะแรกไม่มีอาการปวดใดๆเลยครับ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ไปตรวจ X-ray อาจพบว่ากระดูกสันหลังอยู่ชิดกันมากขึ้น
- มีอาการปวดหลังแบบขัดๆภายในข้อ สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน
- ผู้ป่วยจะก้มหลังไม่ค่อยได้ หลังจะแอ่นอยู่ตลอดเวลา (ลองสังเหตุดู หากเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นจะตรงข้ามกันนะ)
- ผู้ป่วยจะก้มหลังได้ไม่สุด จะรู้สึกตึงๆขัดๆที่หลังในขณะที่ก้ม
- รู้สึกขาชาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง (แต่พบน้อยที่ชาทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน) เนื่องจากกระดูกงอกไปกดทับเส้นประสาท
- หากกดลงไปที่กระดูกสันหลังของข้อที่เสื่อม ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดขัดๆภายในข้อนั้น แต่หากกดที่ข้ออื่นจะไม่รู้สึกอะไร
- หากกระดูกสันหลังทรุดมาก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้าง จนนำไปสู่อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
โดยสรุปแล้ว อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจะค่อนข้างซับซ้อนขึ้นมาหน่อย เพราะเป็นอาการรวมๆกันของหลายโรคครับ
รายละเอียดของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมฉบับจัดหนัก (กระดูกสันหลังเสื่อม ภัยเงียบที่ไร้อาการปวด)
4) โรคปวดสะโพกร้าวลงขา (sacroiliac joint dysfunction symptoms)
โรคนี้เอาจริงๆแล้วคนเป็นเยอะไม่แพ้โรคกระดูกสันหลังเสื่อมเลยนะ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกัน เพราะอาการมันคล้ายกับกระดูกสันหลังเสื่อมมากๆ ต่างกันแค่ตำแหน่งที่ปวดเฉยๆ ซึ่งก็คือที่ตำแหน่งรอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกราน (pelvic) กับกระดูกสันหลังส่วนปลาย (pelvic) นั่นเองครับ (หากงงก็รูปภาพประกอบได้)
ภาพแสดงตำแหน่งข้อต่อ sacroiliac joint จุดที่ทำให้เราปวด
อาการ ของโรคปวดสะโพกร้าวลงขา
- ปวดบริเวณขอบกระดูกเชิงกราน ใกล้กับแนวกระดูกสันหลัง (ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้เข้าใจผิดบ่อยๆว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อม)
- ปวดเมื่อบริเวณหลังเมื่อนั่งนาน
- จะมีอาการปวดเสียวที่หลัง เมื่อเปลี่ยนจากท่านั่งไปยืน โดยเฉพาะหลังจากขับรถมานาน
- จะสังเกตุเห็นเอวทั้ง 2 ข้างอยู่สูงตํ่าไม่เท่ากัน
- ปวดบริเวณหลังส่วนล่างร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
- ปวดมากเมื่อนั่งนาน
- ผู้ป่วยไม่สามารถนั่งนานๆได้ หากนั่งนานก็จะนั่งเอี้ยวตัวลงนํ้าหนักที่ก้นข้างใดข้างหนึ่งแทน
- รู้สึกขาอ่อนแรง บางครั้งเดินๆอยู่ก็รู้สึกเข่าพับไปดื้อๆ
- รู้สึกปวดแบบแหลมๆที่กระเบ็นเหน็บ เมื่อนั่ง
- ไม่มีอาการชาใดๆ
- ปวดตามแนวขอบกางเกงใน
- X-ray จะไม่เห็นความผิดปกติมากนัก ไม่เหมือนโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- หากกดลงไปที่กระดูกสันหลังตรงๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกปวดอะไร แต่หากกดที่รอยต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานจะปวดร้าวลงขา บางรายอาจจะปวดร้าวลงหน้าแข้งเลยก็มีครับ
รายละเอียดแบบจัดเต็มของโรคปวดสะโพกร้าวลงขา (ปวดสะโพกร้าวลงขา ทั้งที่ X-ray แล้วกระดูกสันหลังก็ปกตินี่)
5) โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)
โรคนี้พบได้เยอะมากกกกก แล้วเป็นโรคที่โดนเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เพราะว่ามันมีอาการชาร้าวลงขาเหมือนกันเลย ต่างกันแค่ตำแหน่งที่เส้นประสาทถูกหนีบเท่านั้นเองครับ โรคนี้เกิดจากกล้ามเนื้อ piriformis ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดลึกอยู่ภายในก้นของเรา เกิดตึงตัวมากๆจากการนั่งนานไปหนีบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาชื่อว่า sciatic nerve ผลก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการขาชา ขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อขาฝ่อลีบ แต่เมื่อไอจามแล้วไม่มีอาการปวดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ภาพแสดงตำแหน่งกล้ามเนื้อ piriformis และเส้นประสาท sciatic ที่ถูกทับ
อาการ ของโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
- รู้สึกปวดลึกๆที่แก้มก้น หรือก้นย้อย คลำหาจุดกดเจ็บไม่ค่อยเจอ เพราะกล้ามเนื้ออยู่ลึกมาก
- รู้สึกขาชา แต่จะรู้สึกชาตั้งแต่ก้นลงมา
- จะรู้สึกปวดก้นมากขึ้น หรือขาชามากขึ้นหากนั่งนาน
- ไม่มีอาการปวดหลังใด
- มีจุดกดเจ็บที่ก้น เมื่อนักกายภาพใช้นิ้วกดลงไปทีแก้มก้นจะรู้สึกปวดมากที่ก้นและบางรายปวดร้าวลงถึงปลายเท้า
- ไอ จาม หรือเบ่งถ่ายไม่ทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มมากขึ้น
- รู้สึกขาอ่อนแรง เมื่อเดินลงนํ้าหนักจะรู้สึกว่า ขาเหยีบพื้นได้ไม่เต็มที่
- รู้สึกขาหนักๆ ยกขาข้างที่เป็นไม่ค่อยขึ้น
รายละเอียดของโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทตามลิงค์นี้เลยครับ (ชาร้าวลงขา อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ยังมีอีกโรคที่น้อยคนจะรู้จัก)
6) โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (spondylolisthesis)
โรคนี้อาจจะสังเกตุอาการยากนิดนึงครับสำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้การตรวจ X-ray จึงเห็นชัดครับ ซึ่งโรคนี้เกิดจากตัวเชื่อมระหว่างปล้องกระดูกสันหลังกับส่วนหางของกระดูกสันหลัง (pars interarticularis) มันหัก ทำให้ตัวปล้องกระดูกสันหลังเคลื่อนไปด้านหน้ามากกว่าปกติ อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลังโดยตรง จากที่เคยตั้งครรถ์ หรืออ้วนลงพุงมากก่อนก็ได้ครับ
ลักษณะการยื่นของปล้องกระดูกสันหลัง
อาการ ของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
- ระยะแรกไม่มีอาการแสดงใดๆเลยครับ
- หากเคลื่อนมากขึ้น จะรู้สึกปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา
- หากเคลื่อนไปทับเส้นประสาท จะมีอาการขาชา ขาอ่อนแรง
- ผู้ป่วยจะยืนเดินนานไม่ค่อยได้
ซึ่งโรคนี้จะไม่มีอาการเด่นชัดมากเหมือนโรคอื่นๆครับ
รายละเอียดของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนตามลิงค์นี้เลย (กระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่มากกว่าแค่ปวดหลัง)
7) ปวดหลังจากอวัยวะภายใน
นอกจากอาการปวดหลังจากตัวกล้ามเนื้อและกระดูกแล้ว ก็ยังเกิดจากอวัยวะภายในของเรามีปัญหาด้วยก็ได้นะ เช่น เป็นโรคกระเพาะ, เป็นลำไส้อักเสบ หรือเป็นโรคไต แต่โรคเหล่านี้มักจะมีอาการปวดท้องควบคู่กันไปด้วยนะครับ
ทีนี้ก็จบลงไปแล้วสำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังที่เราพบได้บ่อยมากๆ หวังว่าบทความนี้จะเป็นคู่มือการสังเกตุโรคของตัวเองได้ไม่มากก็น้อยนะครับ^^
เครดิตภาพ
- http://www.physica.com.au/piriformis-syndrome/
- http://advancedpainmedical.com/our-services/spondylolisthesis/
- http://www.sheffieldbackpain.com/
- http://www.behandelcentrumneurologie.nl/meer_over_hernia_(HNP).html
- http://www.jmaxfitness.com/blog/muscle-specific-hypertrophy-guide-targeted-muscle-building/
- http://www.spines.com/conditions/spondylosis
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sacroiliac_joint_dysfunction
- www.doobody.com
15 พฤศจิกายน 2559
ผู้ชม 113989 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น