ดูบทความ
ดูบทความกระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่แรงกว่าแค่ปวดหลัง
กระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่แรงกว่าแค่ปวดหลัง
กระดูกสันหลังเคลื่อน (spondylolisthesis)
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน หมายถึง ภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้ามากกว่าปกติ (หรืออาจเคลื่อนมาทางด้านหลัง แต่พบได้น้อยมาก) โดยมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นน้อยกว่าเพศชาย ความมั่นคงของข้อต่อน้อยกว่าจึงเสียงต่อการเป็นโรคนี้ง่ายกว่า
โดยมากมักพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 (L4-L5) เนื่องจากข้อกระดูกสันหลังส่วนนี้จะรับนํ้าหนักส่วนใหญ่ของร่างกาย มีแรงเครียดสูงกว่า และเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากกว่าข้อบนๆ เมื่อข้อต่อระดับนี้รับภาระมากขนาดนี้จึงไม่แปลกที่จะเกิดปัญหากับข้อที่ L4-L5 เสมอ
ภาพแสดงตำแหน่ง facet joint
สาเหตุ กระดูกสันหลังเคลื่อน
- ข้อต่อ facet joint เกิดการเสื่อม ทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้นๆขาดความมั่นคงจนเกิดการเคลื่อนไหวที่มากกว่าปกติ
- เกิดจากส่วน pars interarticularis แตกหัก ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างตัวปล้องกระดูกสันหลัง (vertebral body) กับส่วนหางของกระดูกสันหลัง จึงทำให้ตัวปล้องของกระดูกสันหลังเคลื่อนมาข้างหน้ามากกว่าปกติเพราะขาดตัวยึดไว้นั่นเองครับ
- เกิดจากอุบัตเหตุที่มีการกระแทกต่อกระดูกสันหลังโดยตรงจนทำให้ข้อเคลื่อน
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือในผู้ที่อ้วนลงพุง
- ผู้ที่ทำงานต้องก้มๆเงยๆเป็นประจำ
- อาจเกิดจากติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง เช่น วัณโรคกระดูกหลัง
ลักษณะการเคลื่อนของกระดูกสันหลังสามารถแบ่งได้ 4 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 : เคลื่อน 25%
ระดับที่ 2 : เคลื่อน 50%
ระดับที่ 3 : เคลื่อน 75%
ระดับที่ 4 : เคลื่อน 100%
ซึ่งระดับที่ 1-2 นั้น สามารถรับการรับการรักษาทางกายภาพบำบัดให้หายปวดได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดยการรักษานั้นจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองไม่ให้กระดูกสันหลังเคลื่อนไปมากกว่าที่เป็นอยู่นะครับ ไม่ได้รักษาให้กระดูกกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้ารุนแรงถึงระดับ 3-4 โอกาสที่จะหายได้โดยการรักษาทั่วไปมักไม่ได้ผล การรักษาโดยการผ่าตัดจึงมักทําในระยะนี้
ภาพแสดงตำแหน่ง pars interarticularis ที่แตกหัก
อาการของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
ในระยะแรกของผู้ที่เป็นโรคนี้อาจจะยังไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัดมากนะครับ แต่เมื่อมีระดับการเคลื่อนที่มากขึ้นผู้ป่วยอาจจะรู้สึกปวดหลังส่วนล่าง และจะปวดมากเมื่อยืนหรือเดิน ในระยะแรกจะปวดเฉพาะบริเวณหลัง แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นหรือกระดูกสันหลังเคลื่อนมากขึ้นอีก อาจมีอาการปวดร้าวลงสะโพก ก้น ต้นขา แต่ถ้ากระดูกเคลื่อนไปโดนเส้นประสาทจะมีอาการชาขาและขาอ่อนแรงร่วมด้วยนะครับ
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยที่สามารถระบุโรคได้ชัดเจนที่สุดคือการ x-ray นะครับซึ่งสามารถวินิจฉัยได้ว่าอาการที่เป็นอยู่นั้น กระดูกสันหลังได้เคลื่อนไปถึงระดับไหนแล้วนั่นเอง แต่ในกรณีที่มีอาการชาร่วมด้วยแพทย์อาจจะทำ MRI เพื่อดูระดับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาทว่ามากน้อยแค่ไหนครับ
สำหรับการตรวจโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนในนักกายภาพบำบัดก็สามารถตรวจวินิจฉัยได้เช่นเดียวกันครับ โดยการคลำแนวกระดูกสันหลังร่วมกับการซักประวัติ แม้จะไม่สามารถบอกรายละเอียดการเคลื่อนได้ชัดเจนเท่า x-ray แต่ก็เพียงพอที่จะให้การรักษาได้ครับผม
การรักษา โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
การรักษาสำหรับโรคนี้ถ้าไม่เข้ารับการผ่าตัดโดยแพทย์นั้น สามารถเข้ารับการรักษากับไคโรแพรคติกและนักกายภาพบำบัด ซึ่งการรักษาทางกายภาพนั้นจะเน้นการลดปวดและการออกกำลังกล้ามเนื้อหลังเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะหยุงกระดูกสันหลังไม่ให้เคลื่อนมากกว่าที่เป็นอยู่ ในผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนนักกายภาพจะให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากเป็นพิเศษเลยนะครับ โดยเฉพาะการฝึก core stabilize เป็นการฝึกกำลังกล้ามเนื้อชั้นลึกที่ติดอยู่กับกระดูกสันหลังให้แข็งแรงมากพอที่จะพยุงกระดูกสันหลังไม่ให้เคลื่อนครับ นอกจากนี้จะใช้อุปกรณ์เสริมร่วมด้วยเช่นอุปกรณ์พยุงหลัง หรือติด kinesio tape ที่หลังเพื่อพยุงกล้ามเนื้อหลังช่วยลดปวดได้
เครดิตภาพ
- http://www.louisianaheart.com/patient-education/spondylolisthesis
- https://www.flickr.com/photos/66863767@N07/6087292898
- http://www.mycdi.com/knowledge_center/pain_management/facet_joint_injection/
18 สิงหาคม 2559
ผู้ชม 27800 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น