ดูบทความ
ดูบทความโรคเก๊าต์เทียม (Pseudogout) โรคที่คนไข้ปวดแสบ คุณหมอปวดหัว
โรคเก๊าต์เทียม (Pseudogout) โรคที่คนไข้ปวดแสบ คุณหมอปวดหัว
โรคเก๊าต์เทียม (Pseudogout อ่านว่า สื๋อ-โด-เกาต์)
โรคนี้จัดว่าเป็นโรคข้ออักเสบอย่างนึง ซึ่งในช่วงชีวิตผมที่ทำกายภาพคนไข้มายังไม่เคยเจอคนไข้เป็นโรคนี้ตัวเป็นๆเลยละครับ ผมจึงอธิบายจากประสบการร์ไม่ได้ว่าเจ้าหน้าตาของโรคนี้มันเป็นยังไง แต่ผมจะอธิบายจากที่รวมรวมข้อมูลมาแล้วกันนะครับ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับโรคเก๊าต์แท้ๆอย่างคร่าวๆกันก่อนนะครับ โรคเก๊าต์เกิดจากผลึกยูเรตไปสะสมอยู่ตามข้อต่อ แล้วเจ้าผลึกยูเรตนี้มีลักษณะเป็นแท่นแหลมเหมือนเข็ม ทำให้ไปทิ่มตำเนื้อเยื่อและกระดูกที่อยู่รอบๆข้อจนเกิดอาการปวด ข้ออักเสบขึ้น และหากอากาศหนาวเย็นหรือนำนํ้าแข็งมาประคบ ณ จุดที่เป็นเก๊ต์(แท้ๆ) จะยิ่งทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสารนํ้าที่อยู่รอบๆเนื้อเยื่อนั้นหายไป ผลึกยูเรตที่ลอยอยู่ในสารนํ้าจึงอยู่ชิดกับข้อต่อมากขึ้นทำให้ทิ่มตำเนื้อเยื่อรอบๆได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ
(อธิบายรายละเอียกเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเก๊าต์ใน เก๊าต์หายได้ หากรักษาถูกวิธี)
ส่วนโรคเก๊าต์เทียม หรือ Pseudogout นั้นเป็นกลุ่มโรคที่มีลักษณะสำคัญคือ มีการพอกของผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟสไดไฮเดรต (CPPD) ที่ผิวข้อ และหากมีผลึกหลุดเข้ามาช่องว่างระหว่างข้อ เม็ดเลือดขาวในร่างกายจะเข้ากำจัดผลึกที่อยู่ระหว่างช่องระหว่างข้อต่อนี้ และเม็ดเลือดขาวจะหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบออกมาทำให้เกิดอาการข้ออักเสบ จนเป็นที่มาของชื่อ "โรคเก๊าต์เทียม" นั่นเองครับ
ภาพส่องกล้องแสดงแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟส(สีขาวๆ)เกาะอยู่ตามผิวข้อ
สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้อาจไม่มีอาการเลย หรือมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลันเหมือนกับโรคเก๊าต์ชนิดเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดข้อแบบเรื้อรังก็ได้ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 อย่างนะครับ
1) โรคข้ออักเสบเฉียบพลันจากผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟต เป็นภาวะที่มีแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟสไปสะสมที่ข้อจนเกิดข้ออักเสบ ข้อบวม ปวด เหมือนกับโรคเก๊าท์ทุกประการจนพาลให้เข้าใจว่าเป็นโรคเก๊าท์ ต่างกันเพียงแค่โรคเก๊าท์แท้ๆเกิดจากผลึกยูเรต แต่เก๊าท์เทียมเกิดจากผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟตแทนครับ
2) ภาวะแคลเซี่ยมจับกระดูกอ่อน คือภาวะที่มีแคลเซี่ยมไปจับผิวกระดูกอ่อนของข้อ ซึ่งจะพบในคนที่เป็นข้ออักเสบเฉียบพลันจากไพโรคฟอสเฟตหรือไม่ก็ได้
3) โรคข้อเสื่อมจากไพโรฟอสเฟต คือภาวะข้อเสื่อมจากผลึกแคลเซี่ยมไพโรฟอสเฟตไปพอกอยู่ด้วย มักพบในคนที่มีความผิดปกติการเผาผลาญไพโรฟอสเฟตตั้งแต่เกิด
สาเหตุของโรคเก๊าต์เทียม
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนะครับ เพียงแต่สันนิษฐานกันว่า เมื่อมีอายุมากขึ้นทำให้กระบวนการทางเคมีเปลี่ยนแปลงไป การเผลผลาญไม่ดีเหมือนแต่ก่อนจึงเกิดโรคเก๊าต์เทียมในที่สุด แต่ทั้งนี้มีปัจจับเสี่ยงที่พบ เช่น
- มีประวัติบาดเจ็บที่ข้อมาก่อน
- มีธาตุเหล็กในเลือดมากกว่าปกติ
- มีโรคอื่นๆมาก่อน เช่น ไฮเปอร์ไทรอยด์ ไฮโปไทรอยด์ โรคแคลเซี่ยมในเลือดสูง หรือแม้แต่โรคเก๊าต์เอง
- มีแมกมีเซี่ยมในเลือดตํ่ากว่าปกติ
ภาพแสดงอาการบวม แดงของนิ้วหัวแม้เท้าขวาในโรคเก๊าต์เทียม
อาการสำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์เทียม
- ไม่มีอาการแสดงใดๆเลย พบแค่เพียงแคลเซี่ยมมาเกาะที่ข้อมากแต่ไม่มีอาการปวดใดๆ
- มีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute pseudogout) อาการนี้จะคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคเก๊าต์ โดยจะพบว่ามีอาการปวด บวมรอบๆข้อ ผิวหนังรอบข้ออักเสบแดง เมื่อจับแล้วจะรู้สึกอุ่นๆเมื่อเทียบกับข้างปกติ
- อาการข้ออักเสบเรื้อรัง คล้ายกับโรคข้ออักเสบทั่วไป คือปวดมากเมื่อใช้งานข้อนั้น แต่อาการปวดจะเบาลงเมื่อพักการใช้งาน ปวดข้อตลอดเวลา ข้อฝืด ข้อติดแข็ง ข้อต่อดูผิดรูป(ในกรณีที่เป็นมานาน) และจะมีอาการมากในช่วงที่พักการใช้งานข้อนานๆแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น หลังจากตื่นนอน หลังจากนั่นนานๆ เป็นต้น
- อาการข้ออักเสบคล้ายโรครูมาตอยด์ แต่พบได้น้อยมาก คือ มีอาการปวดที่ข้อนิ้วมือทั้งข้างซ้ายและขวาเท่ากัน
(รายละเอียดโรครูมาตอยด์ใน เกาต์ VS รูมาตอยด์)
การรักษาโรคเก๊าต์เทียม (pseudogout)
- หากไม่มีอาการปวดใดๆก็ไม่จำเป็นต้องรักษาครับ
- รักษาตามอาการ ตามความรุนแรงของโรค เช่น ถ้าปวดไม่มากก็ให้ทานยาแก้อักเสบไป ถ้ายังไม่ได้ผลก็เพิ่มความแรงของยาขึ้น จนถึงฉีดสเตียรอยด์ดู หากยังไม่ได้ผลอีกก็ใช้ยาเคมีบำบัด หากมีอาการข้อบวมมากก็อาจเจาะเพื่อดูดนํ้าออกจะช่วยลดอาการปวดของข้อได้เช่นกัน
บทบาทหน้าที่ของกายภาพในผู้ป่วยโรคเก๊าท์เทียม
โดยส่วนมากนักกายภาพมักไม่ได้รักษาผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกหรอกครับ จะเจอกันอีกทีก็คือตอนที่ข้อต่อเสื่อม ข้อยึด ข้อผิดรูปไปเยอะมากแล้วนั่นแหละครับ ถึงค่อยมาเจอกันเพื่อดัดข้อให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ เพราะการรักษาโรคเก๊าท์หรือเก๊าท์เทียมนั้นจะเน้นการรักษาด้วยยาเป็นหลัก และโรคเก๊าท์เทียมยังไม่มีวิธีป้องกันได้นะครับ
เครดิตภาพ
- http://visitdrsant.blogspot.com/2013/04/pseudogout.html
- http://eorif.com/calcium-pyrophosphate-deposition-disease-7122
- http://www.ask.com/health/pseudo-gout-874506cee669100a
- https://garlandofgrace.org/2016/05/10/garland-of-grace-05-11-16/
26 มกราคม 2560
ผู้ชม 10796 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น