ดูบทความ
ดูบทความเก๊าท์ หายได้ถ้ารักษาถูกวิธี
เก๊าท์ หายได้ถ้ารักษาถูกวิธี
เก๊าท์ (gout)
จากประสบการณ์ของผมพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดตามข้อต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเท้า หรือแม้กระทั่งข้อเข่า ผู้ป่วยมักจะถามผมทันทีว่า "ปวดข้ออย่างนี้ใช่โรคเก๊าท์หรือเปล่า?" ฮาๆ อยากจะบอกว่าอาการที่ปวดตามข้อต่อต่างมันยังมีอีกหลายโรคไม่ได้มีเพียงแค่เก๊าท์หรอกนะครับ ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคเก๊าท์ให้มากขึ้นกันดีกว่า
โรคเก๊าท์ เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในกระแสเลือดสูงมากกว่าปกติ จนเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกเกลือยูเรตสะสมตามเนื้อเยื่อตามข้อต่อและไต ถ้าเรามีกล้องจุลทรรศน์ส่องไปที่ผลึกเกลือยูเรตจะพบว่ามีลักษณะคล้ายเข็มมีความแหลมคม ซึ่งเจ้าผลึกเกลือยูเรตเหล่านี้แหละครับที่ไปทิ่มไปตำเนื้อเยื้อรอบข้อของเราให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนขึ้นนั่นเอง โดยจะพบในข้อเล็กๆส่วนล่างของร่างกายซะเป็นส่วนใหญ่ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า น้อยมากๆๆๆๆที่จะพบตามข้ออย่างข้อนิ้ว ข้อมือ หรือข้อไหล่นะครับ
ผลึกเกลือยูเรตที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่เป็นเก๊าท์
กรดยูริก คืออะไร?
คือกรดชนิดหนึ่งในร่างกายของเรา ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายของเราย่อยสารพิวรีน (Purine) ซึ่งเจ้าสารพิวรีนนี้เกิดจากร่างกายเราได้รับจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หรือให้เข้าใจง่ายดังนี้
-------------------------------------------------------------------------------
1.ร่างกายได้รับพิวรีน => 2.ร่างกายก็พยายามกำจัดพิวรีน => 3.เมื่อกำ
จัดพิวรีนได้จึงเกิด => 4.กรดยูริก => 5.ร่างกายไม่สามารถขับยูริกออก
ทางไตได้หมด => 6.กรดยูริกไปสะสมตามข้อ => 7.เกิดโรคเก๊าท์ในที่สุด
--------------------------------------------------------------------------------
สาเหตุ
- เกิดจากความผิดปกติของเอนไซม์ในเมตาบอลิซึมของสารพิวรีนในร่างกาย (สารพิวรีนเป็นสารตั้งต้นของกรดยูริก) ทำให้ร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินปกติ
- เกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเอง จากการสลายเซลล์ต่างๆของร่างกายที่เพิ่มขึ้น เช่น มะเร็งต่อมนํ้าเหลือง มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ร่างกายมีของเสียเพิ่มขึ้นในกระแสเลือดและหนึ่งในของเสียนั่นก็คือ กรดยูริก จนร่างกายกำจัดไม่หมดทำให้เกิดการสะสมของกรดยูริกตามข้อต่อต่างๆนั่นเอง
- เกิดจากภาวะไตทำงานผิดปกติ เนื่องจากกรดยูริกกว่า 2 ใน 3 จะถูกขับออกทางไตเป็นหลัก เมื่อไตทำงานบกพร่องจึงเกิดการตกค้างของกรดยูริกเพิ่มสูงขึ้น
- เกิดจากการได้รับยาหรือสารอาหารบางอย่างที่มีส่วนผสมของสารพิวรีนที่สูงจนร่างกายกำจัดออกไม่หมดแล้วเกิดการตกค้างขึ้นในที่สุด เช่น เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ปลาดุก ปลาซาร์ดีน ซุปก้อน กุ้งแห้ง พืชที่กินยอด เช่น แตงกวา ชะอม หน่อไม้ ผักโขม
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์
- รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง(พบในเครื่องในสัตว์ อาหารทะเล หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก เป็นต้น) เป็นประจำ
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์นั้นลดการขับกรดยูริคออก
- เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- เป็นโรคไต
- พบในเพศหญิงที่หมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะทำหน้าที่เร่งขับกรดยูริกออกทางไต เมื่อหมดประจำเดือนฮอร์โมนเพศหญิงก็จะลดลง การขับกรดยูริกก็ทำได้ไม่ดีเท่าเดิม
- พบในเพศชายอายุตั้งแต่ 30-45 ปี เมื่อเทียบกันแล้วจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงนะครับ
อาการ ของโรคเก๊าท์
แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะนะครับ
ระยะที่ 1 :
เป็นช่วงที่ยังไม่มีอาการ แต่พบระดับกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ครับว่าต้องเข้ารับการรักษาหรือไม่ ขึ้นอยู่ดุลพินิจของแพทย์
ระยะที่ 2 :
ระยะข้ออักเสบ เมื่อยู่ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ และข้ออักเสบรุนแรง โดยอาจจะเกิดขึ้นเอง หรือมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น เกิดอุบัติเหตุโดยตรงที่ข้อต่อ ดื่มสุรา หรือ ทางอาหารที่มีสารพิวริน เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผัก เป็นต้น ในรายที่มีอาการอักเสบรุนแรงจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อนอย่างเห็นได้ชัด ร่วมกับมีการขยับข้อลำบาก โดยข้ออักเสบจะเป็นอยู่ 1-2 ข้อ ปวดอยู่ 5-7 วันอาการปวดจะหายไปได้เอง และกลับมาปวดใหม่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยในระยะแรกๆอาการปวดจะเป็นห่างกันมากๆ แต่ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผลึกเกลือยูเรตจะสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ข้ออักเสบจึงเป็นถี่ขึ้น ในบางรายอาจเป็นทุกๆเดือนเลยครับ
ระยะที่ 3 :
ระยะสงบ ซึ่งเป็นระยะที่ไม่มีอาการปวด หรืออักเสบใดๆ ซึ่งอาจนานเป็นปีๆจนผู้ป่วยแทบจะลืมไปแล้วด้วยซํ้าว่าเคยมีอาการปวดข้อมาก่อน
ระยะที่ 4 :
ระยะมีก้อนโทฟัส เป็นระยะท้ายของโรค มักพบในผู้ป่วยที่เป็นมานานมากกว่า 5 ปี และรักษาผิดวิธี จนเป็นเหตุให้ผลึกเกลือยูเรตที่สะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆเพิ่มมากขึ้นจนเป็นก้อนปูดนูนออกมาบริเวณผิวหนังรอบๆ ไอปุ่มนูนๆนี่แหละครับที่เรียกว่า "ปุ่มโทฟัส" ซึ่งจะกัดกินเนื้อเยื่อของข้อจนกระดูกแหว่ง ข้อถูกทำลายและเกิดความพิการในที่สุด ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงแค่ปวดข้อ แต่จะมีความผิดปกติของระบบอื่นๆในร่างกายร่วมด้วย เช่น ไตวาย นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ปุ่มก้อนโทฟัสในโรคเก๊าท์
การรักษา โรคเก๊าท์
วิธีสังเกตุว่าตนเองเป็นโรคเก๊าท์หรือไม่ในเบื้องต้น ให้สังเกตุอาการปวดของเราครับว่า มักปวดตามข้อนิ้วเท้ารึเปล่า เพราะลักษณะพิเศษของโรคเก๊าท์คือมักปวดตามข้อเล็กๆ อย่างข้อนิ้วเท้า และข้อเท้า ซึ่งเป็นข้อที่อยู่ส่วนล่างของร่างกาย และลักษณะอาการปวดจะรู้สึกปวดเหมือนมีเข็มตำบริเวณข้ออยู่ตลอดไม่ว่าจะอยู่นิ่งๆหรือขยับร่างกายก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียดและทานยาตามกำหนดของแพทย์ เพื่อรักษาให้หายก่อนที่อาการปวดจะรุนแรงจนเกินเยียวยานะครับ
การวินิจฉัยโรคเกาต์ที่แม่นยำที่สุดจึงจำเป็นต้องเจาะตรวจน้ำไขข้อในขณะที่ข้อมีการอักเสบ ซึ่งเมื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบผลึกเกลือรูปเข็มในน้ำไขข้อ ในกรณีที่ไม่มีข้ออักเสบ แต่ตรวจร่างกายพบปุ่มโทฟัส แพทย์อาจใช้เข็มสะกิดบริเวณปุ่มนั้นๆ ซึ่งจะได้สารสีขาวคล้ายชอล์กมา เมื่อไปส่องกล้องดูก็จะพบผลึกเกลือยูเรตเช่นกัน
ข้อห้าม กับความเชื่อผิดของคนเป็นโรคเก๊าท์
- ห้ามนวด หรือหักนิ้วบริเวณที่ข้ออักเสบ เพราะการทำเช่นนั้นจะกระตุ้นให้ข้ออักเสบเพิ่มขึ้นได้
- ห้ามประคบเย็น เชื่อว่านี่อาจจะขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่อยู่พอสมควร เมื่ออักเสบต้องประคบเย็นสิมันถึงจะช่วยลดปวดได้ ผมอยากจะบอกว่าถ้าเป็นกรณีทั่วไปถูกต้องครับ แต่สำหรับคนเป็นโรคเก๊าท์ ยิ่งประคบเย็นหรืออยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นจะยิ่งกระตุ้นให้ปวดเพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากความเย็นจะทำให้สารนํ้าบริเวณนั้นลดน้อยลง ผลึกเกลือยูเรตจากเดิมที่ลอยอยู่ในสารนํ้าแต่เมื่อสารนํ้าน้อยลง ผลึกเกลือจึงอยู่ใกล้ชิดเนื่อเยื่อเพิ่มขึ้นจนไปทิ่มตำเนื้อเยื่อได้ง่ายและถี่ขึ้นนั่นเอง
เครดิตรูปภาพ
- http://emedicine.medscape.com/article/329958-overview
- http://www.healthcare-online.org/What-Causes-Gout.html
- http://www.med.upenn.edu/synovium/SFMSUGallery/index.html
01 มีนาคม 2559
ผู้ชม 20496 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น