shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12644041

ดูบทความ3 โรค 3 อาการ ที่มาพร้อมโรคอัมพาต

3 โรค 3 อาการ ที่มาพร้อมโรคอัมพาต

หมวดหมู่: นอกเรื่อง

 

ขึ้นชื่อว่าเป็นอัมพาต ไม่ว่าจะเป็นอัมพาตทั้งตัว อัมพาตครั้งซีก หรืออัมพาตเฉพาะท่อนล่างก็ตาม คนส่วนมากก็จะรู้จักโดยรวมๆเกี่ยวกับโรคอัมพาตก็คือ อาการอ่อนแรงแล้วผู้ป่วยไม่สามารถเดิน ยืน นั่ง หรือช่วยเหลือตัวเองได้นั่นเอง แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากอาการอ่อนแรงแล้วยังมีอาการอื่นๆแทรกมาด้วยนะ หากใครเคยดูแลผู้ป่วยอัมพาตจะรู้เลยว่าผู้ป่วยมักจะบ่นว่าปวดตรงนั้น เมื่อยตรงนี้ เจ็บตรงนั้น อย่ายกแขนข้างนี้เพราะมันปวด ทั้งๆที่นอนเฉยๆแล้วปวดได้ยังไงกัน ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับ 3 โรคแปลกๆที่มาพร้อมกับอัมพาตกันดีกว่า ซึ่งผมจะพูดถึงคนที่เป็นอัมพาตทั้งตัว อัมพาตครึ่งซีก หรือคนที่นอนติดเตียงนานๆนะครับ

 

สำหรับทั้ง 3 โรคจะมีดังนี้ครับ 

ภาวะข้อไหล่ติด

 

1) Frozen shoulder (ข้อไหล่ติด)

 

การที่ผู้ป่วยไม่ได้ขยับร่างกายเป็นเวลานาน สิ่งแรกที่จะพบเห็นได้ก่อนเป็นอันดับแรกเลยก็คือ ภาวะข้อติดครับ และตำแหน่งที่ข้อติดเป็นกันมากที่สุดก็หนีไม่พ้นช่วงข้อไหล่เนี่ยแหละครับ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะข้อไหล่เป็นข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้หลายทิศทางมีกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นปกคลุมจำนวนมาก พอไม่ได้เคลื่อนไหวนานๆจึงทำให้กล้ามเนื้อรอบๆข้อเกิดการหดรั้ง อักเสบ(โดยไม่ทราบสาเหตุ) และเกิดภาวะข้อไหล่ติดตามมาในที่สุด 

 

วิธีป้องกันภาวะข้อไหล่ติดนั้นง่ายมากครับ คือ หมั่นให้ผู้ป่วยยกแขน กางแขน หรือใช้แขนทำกิจวัตรต่างๆให้ได้มากที่สุดใน 1 วัน แค่นี้ก็เพียงพอแล้วครับ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยนอนติดเตียงไม่ได้สติ หรือแขนอ่อนแรงมากเกินไปจนไม่สามารถยกแขนได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลก็จับแขนผู้ป่วยให้ยกแขน กางแขนเพื่อให้ข้อไหล่ได้มีการเคลื่อนไหวและป้องกันภาวะข้อไหล่ติด แต่ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลนักกายภาพจะมีหน้าที่ดูแลในส่วนนี้เอง 

 

ทีนี้หากผู้ป่วยนอนนิ่งๆเป็นเวลานานมากๆ แถมไม่ได้ทำกายภาพหรือฝึกเคลื่อนไหวข้อต่อใดๆเลย นอกจากจะเกิดภาวะข้อไหล่ติดแล้วยังทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแขน แขนบวมแดง บ้างก็รู้สึกปวดแสบปวดร้อนทั้งท่อนแขนอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งมันเป็นอาการของ shoulder hand syndrome ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี่เองครับ

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคข้อไหล่ติด คลิ๊กที่ลิงค์นี้เลยครับ (สาระพันปัญหาข้อไหล่ติด มันเกิดขึ้นได้ยังไง เรามีคำตอบ)

มือบวมแดงจากโรค shoulder hand syndrome

 

2) Shoulder hand syndrome (อาการปวดแขน)

 

เมื่อพูดถึงกลุ่มโรคที่มีชื่อว่า Shoulder hand syndrome เชื่อว่าคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักกลุ่มโรคนี้กัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ เพราะว่าพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งอาการในระยะเริ่มต้นก็คือ เราจะสังเกตุเห็นว่าแขนข้างที่เป็นอัมพาตของผู้ป่วยจะมีเหงื่อซึมออกมาอยู่ตลอดเวลา เมื่อเทียบกับแขนข้างปกติ พอผ่านไปได้ไม่กี่วันแขนจะเริ่มบวม แดง เมื่อเราจับแขนดูจะรู้สึกว่าท่อนแขนจะอุ่นมากกว่าปกติเหมือนคนเป็นไข้ แต่จับแขนอีกข้างก็เป็นปกติดี หลังจากนั้นผู้ป่วยจะบ่นว่ารู้สึกปวดแขน แสบแขน ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน ปวดกว้างๆ แล้วถึงตอนนี้แหละครับที่ผู้ดูแลจะงงกันว่า "แค่นอนเฉยๆแล้วทำไมถึงบ่นว่าปวดแขนได้?" หากยังไม่ได้ทำการรักษาเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังผู้ป่วยครับ คือ ผิวหนังจะดูคลํ้า แห้งกรอบ

 

วิธีการดูแลรักษาและป้องกันก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ เพียงแค่วางแขนผู้ป่วยให้สูงกว่าระดับหัวใจก็พอ โดยการวางแขนไว้บนหมอนหรือผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดหรือสารนํ้าต่างๆตกค้างอยู่ที่มือ และก็หมั่นยกแขน ขยับข้อต่อผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมงเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดของแขนข้างที่อ่อนแรง ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีกำลังแขน เริ่มสามารถขยับแขนได้เองแล้วอาการปวดแขนจากโรค Shoulder hand syndrome ก็จะค่อยๆหายไปเองครับผม

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค shoulder hand syndrome (shoulder hand syndrome กลุ่มอาการปวดแขนแปลกๆที่มาพร้อมอัมพาต)

 

ลักษณะของแขนข้างที่กล้ามเนื้อฝ่อลีบ

 

3) Muscle atrophy (ภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบ)

 

จริงๆภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบสามารถเกิดขึ้นกับได้ทุกคนนะครับ ไม่ต้องเป็นอัมพาตก็ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบได้ เพียงแค่เรานอนอยู่เฉยๆไม่ลุกไปไหนติดต่อกันสัก 1 เดือนก็จะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อของเราค่อยๆลีบเล็กลงไปแล้ว ซึ่งมันเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายเราครับ ที่ต้องการสงวนพลังงานเอาไว้ โดยยึดหลักที่ว่า "ถ้าไม่ใช้ ก็กำจัดทิ้ง" นั่นคือกล้ามเนื้อที่เรามีอยู่แต่ไม่ได้ใช้งานมันอย่างเต็มที่ ร่างกายเราจะค่อยๆปรับตัวโดยลดขนาดเส้นใยกล้ามเนื้อของเราลง เพราะเห็นว่ามีเส้นใยกล้ามเนื้อออกจะใหญ่โต แต่ใช้งานไม่ค่อยคุ้มค่ากับสารอาหารที่เสียไปเลยจึงลดขนาดมันซะ พูดง่ายๆคือยิ่งใช้กำลังกล้ามเนื้อน้อยเท่าไหร่ ร่างกายยิ่งทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อเล็กลงเท่านั้น ฉะนั้น เราจึงสังเกตุเห็นว่าผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตหรือนอนติดเตียงเป็นเวลานานๆมักจะมีร่างกายที่ซูบผอม ตัวเล็ก หล้ามเนื้อขาดความกระชับ 

 

ซึ่งเราไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภา่วะกล้ามเนื้อฝ่อลีบได้นะครับ การที่เราทำกายภาพยกแขน ยกขา นวดตรงนั้นกดตรงนี้แล้วหวังว่าจะให้ผู้ป่วยหายจากอัมพาต กล้ามเนื้อฟื้นมีกำลังแข็งแรงดีเหมือนเดิมละก็เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างยิ่งครับ วิธีเดียวที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีกำลังกล้ามเนื้อที่แข็งแรงดังเดิมคือ การออกกำลังกายครับ ผู้ป่วยต้องช่วยเหลือตนเองโดยการออกแรงกล้ามเนื้อ โดยมีนักกายภาพคอยชี้แนะและช่วยประคองร่างกายไม่ให้ล้มเท่านั้นเองครับ 

 

ฉะนั้น เมื่อทราบอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องไปหาหมอนวด กินยาแปลกๆ หรือฉีดยาเพื่อหวังว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยแข็งแรงได้จากการรักษาแบบนั้นนะครับ การออกกำลังกายคือ คำตอบเดียวจริงๆขอยืนยัน นอนยัน นั่งยันกันเลย เพราะแค่การทำกายภาพให้ผู้ป่วยจากนอนติดเตียงจนสามารถลุกขึ้นยืนเดินเองได้ก็ใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูงพอสมควรแล้ว อย่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับความไม่แน่นอนเลยนะครับ 

 

 

เครดิตภาพ

- https://meded.ucsd.edu/clinicalimg/upper_left_thenar_wasting.htm

- http://www.findyourbalance.ca/2014/02/your-freezing-frozen-shoulder/

- http://novocur.com/pain-types/complex-regional-pain-syndromereflex-sympathetic-dystrophy/ 

- https://www.verywell.com/how-to-change-a-person-in-bed-1131995

- www.doobody.com

 

09 สิงหาคม 2559

ผู้ชม 6721 ครั้ง

    Engine by shopup.com