ดูบทความ
ดูบทความปวดก้นกบ โรคร้าย ที่ใครๆต่างมองข้าม (แม้แต่หมอเอง)
ปวดก้นกบ โรคร้าย ที่ใครๆต่างมองข้าม (แม้แต่หมอเอง)
ปวดก้นกบ (coccydynia)
หลายบทความก่อนหน้านี้ผมได้เขียนถึงเรื่องอาการปวดหลัง ปวดสะโพกและวิธีการแยกโรคมามากมาย แต่มีอีกโรคนึงที่ผมยังไม่เคยเขียนหรือพูดถึงเลย นั่นคืออาการปวดก้นกบ จัดว่าเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก (แม้แต่ผมยังมองข้ามไปเลยในบางครั้ง) เพราะอาการปวดมันคล้ายๆกับอาการปวดหลังกับอาการปวดประดูกเชิงกรานจนโดนเหมารวมไปซะงั้น ฉะนั้น เรามารู้จักกับอาการปวดก้นกบกัน
ก้นกบอยู่ที่ไหน?
ก้นกบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงก้นของกบที่ร้องอ๊บๆนะครับ แต่คือกระดูกส่วนปลายที่ต่อจากกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 5 ลงมา ถ้าในขณะที่เรานั่งเก้าอี้อยู่แล้วใช้มือคลำตั้งแต่ร่องก้นขึ้นมาจะคลำเจอกระดูกแข็งๆ ตรงนั้นแหละครับคือกระดูกก้นกบ ซึ่งประกอบไปด้วยกระดูก 5 ชิ้นเชื่อมต่อกันจนเป็นกระดูกชิ้นเดียวกัน ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อิสระเหมือนกระดูกสันหลังนะครับ ทำหน้าที่รับนํ้าหนักและกระจายแรงขณะที่เรานั่ง จัดว่าเป็นกระดูกที่มีความแข็งแรงสูงมากเลยทีเดียว
ภาพแสดงตำแหน่งของก้นกบ
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดก้นกบ?
โดยปกติแล้วกระดูกก้นกบของคนเราไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อิสระเหมือนกระดูกสันหลัง แต่จะเป็นลักษณะข้อกระดูกที่ยึดติดกันแน่น มีความมั่นคงแข็งแรงสูง จู่ๆจะเกิดอาการปวดเหมือนปวดหลังคงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเกิดปวดขึ้นมา โดยมากมักเกิดจากแรงที่มากระทำภายนอกครับ ดังนี้
- เกิดจากการนั่งพื้นแข็ง : อย่างที่ได้กล่าวไปว่า กระดูกก้นกบทำหน้าที่รับนํ้าหนักและกระจายแรงขณะนั่ง หากเรานั่งบนพื้นที่แข็งเป็นประจำจะทำให้กระดูกก้นกบเกิดแรงกดมากเกินไปจนเกิดอาการปวดได้ วิธีแก้ก็เพียงแค่นั่งบนพื้นที่นุ่ม หาเบาะมารองนั่ง หรือออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังและก้นให้แข็งแรงจะช่วยในการกระจายนํ้าหนักได้ดีครับ
- เกิดจากอุบัติเหตุ : เช่น เคยล้มก้นกระแทกพื้น โดนรถชนที่ก้น ก็อาจทำให้ข้อต่อที่ยึดกันเองภายในก้นกบเคลื่อน เส้นเอ็นที่ยึดข้ออักเสบและทำให้เกิดอาการปวดได้ในที่สุด
- ตั้งครรภ์ : สาเหตุนี้พบได้เป็นอันดับต้นๆเลยครับ เพราะขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศหญิงออกมามากกว่าปกติ ทำให้เส้นเอ็นที่ยึดข้อต่อต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเชิงกรานคลายตัวเพื่อเพิ่มพื้นที่ภายในครรภ์ให้แก่เด็กทารก และให้ทารกคลอดได้ง่าย แล้วผลจากการที่เส้นเอ็นคลายตัวทำให้ความมั่นคงของข้อต่อลดลงโดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนล่างและกระดูกก้นกบ แถมขณะตั้งครรภ์นํ้าหนักจะไปกดให้กระดูกก้นกบแบะตัวออกจากอุ้งเชิงกราน เส้นเอ็นถูกยืดมากขึ้น ผลก็คือทำให้เกิดอาการปวดก้นกบได้ทั้งที่ตั้งครรภ์อยู่และคลอดแล้วนั่นเองครับ
- อ้วนลงพุง : ผู้ที่อ้วนลงพุงจะทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวแอ่นไปข้างหน้ามากขึ้นตามแรงดึงของหน้าท้อง และกระดูกก้นกบก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีการโค้งตาม เมื่อเรานั่งลงกระดูกก้นกบจึงรับนํ้าหนักและกระจายแรงได้ไม่ดี เพราะตำแหน่งการวางตัวของก้นกบไม่เหมาะสม และที่สำคัญผู้ที่นํ้าหนักมากๆจะยิ่งเพิ่มแรงกดต่อกระดูกก้นกบมากขึ้นเช่นกัน จึงเกิดอาการปวดได้ นอกจากนี้ภาวะอ้วนลงพุงยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนได้ด้วยนะครับ
อ่านเพิ่มเติมโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (กระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่แรงกว่าแค่ปวดหลัง)
- มีภาวะกระดูกเสื่อม ข้อเสื่อม : สาเหตุนี้อาจเป็นผลมาจากอายุที่มากขึ้น ข้อต่อเสื่อมลง การรับนํ้าหนักจึงทำได้ไม่ดี แต่ส่วนมากแล้วภาวะข้อเสื่อมมักเกิดที่กระดูกสันหลังระดับเอวมากกว่าครับผม
ตำแหน่งอาการปวดบริเวณก้นกบ
อาการปวดก้นกบ
- ปวดที่ก้นกบเมื่อนั่ง ไม่ว่าจะนั่งบนพื้นแข็งหรือนุ่ม
- อาการปวดจะร้าวตั้งแต่ก้นกบลงมาถึงก้นทั้ง 2 ข้าง หรืออาจร้าวเพียงข้างเดียวก็ได้ครับ
- ปวดมากเมื่อเปลี่ยนท่านั่งเป็นยืน
- เมื่อกดที่ก้นกบตรงๆจะรู้สึกปวดมาก รู้สึกปวดขัดๆ และอาจปวดร้าวลงก้นได้ ซึ่งลักษณะอาการปวดจะคล้ายๆกับโรคปวดสะโพกร้าวลงขา (SI joint syndrome) และวิธีการรักษาก็มักจะรักษาควบคู่กันไปทั้ง 2 ข้อต่อนี้เลยครับ
อ่านเพิ่มเติมโรคปวดสะโพกร้าวลงขาได้ที่นี่ครับ (ปวดสะโพกร้าวลงขา แต่ X-ray แล้วก็ไม่เป็นไรนี่)
ภาพแสดงการนั่งเอนหลัง อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดก้นกบ
การรักษาอาการปวดก้นกบ
- นั่งหลังตรง หรือนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงนี่คือการป้องกันที่ดีที่สุดแล้วครับ เพราะขณะที่เรานั่งหลังตรงแรงกดจะไม่ได้อยู่ที่ก้นกบแต่แรงกดจะไปอยู่ที่บริเวณก้นนุ่มๆของเราแทน กระดูกก้นกบจึงไม่รับแรงกดมาก แต่ถ้าเรานั่งหลังค่อมหรือนั่งเอนหลังแรงกดจะอยู่ที่กระดูกก้นกบแทน ลองเอามือคลำก้นแล้วนั่งหลังตรงสลับกับนั่งหลังค่อมดูก็ได้ครับ 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น 10 ตาเห็นไม่เท่าสัมผัสนะ
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบทลุกขึ้นยืนหรือเดิน 5-10 นาทีทุกๆ 1 ชั่วโมง เพราะการที่เรานั่งนานๆติดต่อกันจะทำให้เกิดแรงกดต่อกระดูกสันหลังผ่านมายังก้นกบทำให้ข้อจ่อรับภาระสูง ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งค้างจนเกิดอาการปวดเรื้อรังตามมาได้
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ปวดก้นกบ โดยใช้เบาะที่มีรูตรงกลางเพื่อเลี่ยงการกดทับก้นกบ
- 2 วิธีก่อนหน้านี้สามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่หากลองปรับเปลี่ยนแล้วอาการปวดยังคงไม่บรรเทา ทีนี้ก็ต้องถึงมือหมอแล้วละครับ หลักๆแล้วจะเป็นหน้าที่ของนักกายภาพบำบัด การรักษานั้นจะใช้การขยับข้อต่อที่ยึดติดกันแน่นเกินไปให้คลายตัวออกครับ นั่นคือการใช้มือกดลงไปที่ปุ่มกระดูกก้นกบเป็นจังหวะสมํ่าเสมอจนกว่าอาการปวดขัดๆจะทุเลาลง แต่ทั้งนี้ก็อาจจะขยับข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนเอวร่วมด้วยเพราะกระดูกทั้ง 2 นั้นทำงานสัมพันธ์กันครับ
ในรายที่ปวดมากไม่สามารถทนต่อการกดได้ นักกายภาพจะใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยลดปวดก่อน เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์, laser, shortwave, microwave, การกระตุ้นไฟฟ้า, การวางผ้าร้อนบริเวณที่ปวด เป็นต้น ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาก็ขึ้นอยู่ตัวผู้ป่วยด้วยครับว่า ปวดมานานแค่ไหน? อาการปวดรุนแรงมากรึเปล่า? ไม่สามารถระบุได้เป๊ะๆว่าต้องใช้เวลาเท่านั้นเท่านี้นะครับผม
เครดิตภาพ
- www.doobody.com
- http://www.ortheo.com/coussin-bouee-gonflable-pi-168.html
- http://coccyxcushionreview.com/coccydynia-exercises-coccyx/
- http://www.spine-health.com/image-gallery/images/coccydynia
- http://emedicine.medscape.com/article/309486-overview
- http://www.americanspinegroup.com/conditions/coccydynia
- http://www.painmanagementalbuquerque.com/coccydynia.html
15 มิถุนายน 2559
ผู้ชม 193718 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น