ดูบทความ
ดูบทความหมอนรองกระดูกทับเส้นที่หลัง ทำไมปวดขา แต่ไม่ปวดหลัง?
หมอนรองกระดูกทับเส้นที่หลัง ทำไมปวดขา แต่ไม่ปวดหลัง?
หมอนรองกระดูกทับเส้นที่หลัง
ทำไมปวดขา แต่ไม่ปวดหลัง??
หลายๆเคสที่ผมรักษาเกี่ยวกับอาการปวดขา ขาชาจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทที่หลัง พอผมตรวจร่างกายเสร็จสัพจนมั่นใจแล้วว่าคนไข้รายนี้เป็นโรคหมอนรองปลิ้นทับเส้นแน่นอน ผมก็จะบอกไปว่าคุณเป็นโรคนี้นะ พอพูดจบเท่านั้นแหละ คนไข้ส่วนใหญ่จะพูดสวนขึ้นมาทันทีว่า "คุณดูนแน่ใจแล้วหรอ ผมปวดขานะ ไม่ได้ปวดหลัง แล้วจะเป็นหมอนรองปลิ้นทับเส้นได้ยังไง ถ้าเป็นหมอนรองทับเส้นมันต้องปวดหลังไม่ใช่หรอ เพราะโรคมันอยู่ที่หลัง?"
พอคนไข้ทักมาแบบนี้ ผมก็บอกตัวเองในใจว่า "ต้องคุยกันยาวแน่ๆ" ว่าแล้วก็หยิบหนังสือ anatomy มาอธิบายโครงสร้างข้อกระดูกสันหลังและเส้นประสาทว่า ทำไมหมอนรองปลิ้นทับเส้นที่หลังแล้วถึงทำให้เราขาชาได้ แล้วผมก็เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนก็น่าจะสงสัยเหมือนกันว่าทำไมหมอนรองปลิ้นที่หลังถึงทำให้ขาชา เรามาหาคำตอบกันครับ...
ภาพแสดงโครงสร้างกระดูกสันหลังและเส้นประสาทสันหลังโดยรอบ
หมอนรองปลิ้นที่หลังแล้วทำไมถึงทำให้ปวด-ชาขา?
เรื่องนี้ตอบง่ายๆเลยก็เพราะว่า เส้นประสาทแต่ละเส้นที่ออกจากข้อกระดูกสันหลังแต่ละข้อ จะมีโซนกล้ามเนื้อที่วิ่งไปเลี้ยงเป็นโซนๆของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเปรียบเทียบเส้นประสาทของคนก็เหมือนกับสายไฟบ้าน บ้านมี 3 ชั้น สายไฟก็มี 3 เส้น เส้นที่ 1 เลี้ยงชั้น 1 เส้นที่ 2 เลี้ยงชั้น 2 ส่วนเส้นที่ 3 ก็วิ่งไปเลี้ยงชั้น 3 ของบ้าน เปรียบเทียบแบบนี้พอจะนึกภาพออกนะครับ
สมมติวันดีคืนดีดันมีหนูมากัดสายไฟเส้นที่ 2 ที่ไปเลี้ยงชั้น 2 ของบ้าน แต่สายไฟไม่ได้ขาดออกจากกันเป็น 2 ท่อน สัญญาณไฟยังคงวิ่งไปที่ชั้น 2 ได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เสถียรเหมือนแต่ก่อน ไฟติดๆดับๆอยู่เป็นระยะ ยังพอใช้งานได้บ้าง แต่ชั้นที่ 3 ของบ้านไฟเปิดไม่ได้เลย พอไปดูสายไฟเส้นที่ 3 ปรากฎว่าหนูกัดสายไฟขาดออกจากกัน ทำให้ไม่มีไฟฟ้าไปเลี้ยงที่ชั้น 3 ของบ้านเลย
ลักษณะแบบนี้ก็เหมือนกับหมอนรองปลิ้นทับเส้นประสาทนั่นแหละครับ สมมติเส้นประสาทหลังคู่ที่ 5 ที่ไปเลี้ยงขาถูกกดทับ ซึ่งเส้นนี้จะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อช่วงก้น ข้างต้นขา หน้าแข้ง จนถึงปลายเท้าฝั่งนิ้วก้อย พอเส้นนี้ถูกทับปุ๊บ เราจึงรู้สึกปวดตามแนวที่เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อโซนนั้นพอดี
ซึ่งรูปแบบการรับสัมผัสของเส้นประสาทไขสันหลังแต่ละเส้นที่รับความรู้สึกของร่างกายแต่ละส่วนนั้น จะมีแผนภาพที่ไว้ใช้ดูประกอบอยู่แล้ว ซึ่งแผนภาพนี้จะเรียกว่า dermatome ดูตามภาพด้านล่างนี้เลยครับ
ภาพ dermatome ที่แสดงถึงเส้นประสาทสันหลังแต่ละคู่มาเลี้ยงร่างกายส่วนไหนบ้าง
ซึ่งทั้งหมอ และนักกายภาพจะใช้ภาพนี้เช็คว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นที่ข้อไหน
แล้วถ้าหมอนรองปลิ้นมาก เราก็จะรู้สึกปวดตามโซนนั้นมากขึั้น เริ่มชา จนถึงชามาก ส่งผลให้การสั่งงานของกล้ามเนื้อที่เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อกลุ่มนั้นอยู่ทำงานผิดปกติไป คือ รู้สึกขาไม่มีแรง รู้สึกขาแข็ง ก้าวขาลำบาก ทรงตัวไม่ดี ล้มง่าย
และในกรณีที่หมอนรองปลิ้นออกมาเยอะมากจริงๆละก็ ก็มีบ้างบางเคสที่จะมีอาการปวดหลังร่วมด้วยครับ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะปวดลงขามากกว่านะ คนไข้จะรู้สึกตัวว่าปวดหลังจริงๆก็ตอนที่นักกายภาพกำลังกดข้อกระดูกสันหลัง เพื่อดันหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นอยู่ให้กลับเข้าที่นั่นแหละครับ ตอนนั้นแหละเราจะรู้สึกว่า มันทั้งปวดตึงในหลัง แถมยังปวดร้าวลงขาตามแนวที่ปวดอยู่ตลอดด้วย พอโดนแบบนี้เข้า คนไข้จะบอกกับตัวเองได้ทันทีเลยว่า "ฉันเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแน่นอน!!" จากอาการที่ฟ้องขนาดนี้
ถ้าเส้นประสาทที่ถูกกดทับตามรูปเป็นเส้นประสาทคู่ที่ 5
คนไข้จะรู้สึกปวดก้นขวา ข้างต้นขา หน้าแข้ง ไล่ลงไปจนถึงปลายเท้า
แต่ถ้าการกดทับน้อย อาจจะปวดตุ่ยๆอยู่แค่ก้นก็ได้
แล้วถ้าเป็นหมอนรองปลิ้นทับเส้นที่คอ ก็จะปวดลงแขนเหมือนกันใช่มั้ย?
ใช่ครับ หลักการเดียวกันเลยครับผม คือ ถ้าเส้นประสาทจากคอที่ไปเลี้ยงแขนส่วนไหนถูกกดทับ เราก็จะรู้สึกปวดตามโซนที่เส้นประสาทไปเลี้ยงเลยครับ
สรุป
คนที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่หลัง มักจะมีอาการปวดและชาลงขา ไม่ค่อยปวดหลัง เนื่องจากเส้นประสาทจะส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงกล้ามเนื้อเป็นโซนๆอยู่แล้ว แต่พอถูกทับ การส่งสัญญาณประสาทไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำไม่ได้ แล้วเกิดอาการปวดตามโซนนั้น ถ้าถูกทับมากก็จะมีอาการชาร่วมด้วย
บางคนจะปวดตั้งแต่ก้นลงถึงปลายเท้า บางคนก็ปวดอยู่แค่ก้น ทั้งๆที่เส้นประสาทที่ถูกทับเป็นเส้นเดียวกัน ที่เป็นแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาทด้วยครับ ถ้าหมอนรองปลิ้นออกมาทับเส้นเยอะมาก ทับไปลึกมากเราก็จะรู้สึกปวดลงขาไปไกลจนถึงปลายเท้า แต่ถ้าทับน้อยๆเราก็จะรู้สึกปวดแค่ก้นเท่านั้นเองครับผม
ถ้าเพื่อนๆต้องการปรึกษาอะไรเพิ่มเติม หรือต้องการนัดเข้าคลินิกก็ทักเข้ามาได้ที่ Line ID : @doobody ได้เลยนะครับ
--------------------------------------------
รายละเอียดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท : หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตที่มาพร้อมกระดูกเสื่อม
คลิปที่ 7 : 9 วิธีลดปวด จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นด้วยตนเอง
คลิปที่ 58 : 3 วิธี ดึงหลังด้วยตนเอง
คลิปที่ 81 : วิธีลุกจากเตียง ของคนเป็นหมอนรองทับเส้น ป้องกันไม่ให้เป็นซํ้า
13 มิถุนายน 2562
ผู้ชม 7169 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น