shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12649623

ดูบทความเคสน่าศึกษา 04 ตึงสะโพก ปวดหลัง เพราะเท้าแบน

เคสน่าศึกษา 04 ตึงสะโพก ปวดหลัง เพราะเท้าแบน

เคสน่าศึกษา 04 

ตึงสะโพก ปวดหลัง เพราะเท้าแบน

 

จะว่าไปแล้วก็มีหลายเคสเหมือนกันที่มาหาผมด้วยอาการปวดหลัง ตึงขาจากโครงสร้างเท้าแบน ซึ่งในเคสที่ผมจะยกตัวอย่างนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกันครับ โดยคนไข้รายนี้มาหาผมด้วยอาการตึงต้นขา ปวดสะโพก และหลังเล็กน้อย แต่จะมีอาการอยู่ตลอดเวลา เป็นๆหายๆมาหลายปี รักษามาแทบจะทุกวิธีแล้วก็ไม่หายขาด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในบทความนี้เรามาหาคำตอบกันครับ


เนื่องด้วยคนไข้รายนี้มีอาการปวดแบบนี้มาหลายปีมากจนผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจุดเริ่มต้นจริงๆของอาการมันเกิดจากอะไร แต่จากที่ได้ตรวจร่างกายโดยละเอียด ผมค่อนข้างมั่นใจเลยว่า อาการตึงขา ปวดสะโพกและหลังส่วนหนึ่งนั้นมาจากเท้าแบนแน่นอน


เพราะการที่เท้าเราแบนข้างใดข้างหนึ่งนั้น ทำให้เกิดความสูงตํ่าของขาไม่เท่ากัน (แบบปลอมๆ) ผลที่ตามมาก็ทำให้เกิดปัญหากระดูกเชิงกรานกรานระหว่างซ้ายและขวาไม่เท่ากัน กระดูกสูงหลังเกิดคดงอ พอโครงสร้างกระดูกผิดปกติไป กล้ามเนื้อทั้ง 2 ฝั่งระหว่างซ้ายขวาก็ไม่สมดุลกัน โดยข้างหนึ่งอาจจะตึงไป อีกข้างก็หย่อนเกินไป ระยะแรกก็จะรู้สึกเมื่อยๆตึงๆธรรมดา แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็เกิดอาการปวดขึ้นตั้งแต่ขาจนถึงหลังได้ในที่สุด

 

ภาพซ้าย แสดงตัวอย่างการเกิดเท้าแบนของเท้าซ้ายทำให้สมดุลข้างซ้ายขวาเปลี่ยนไป

 

โดยคนไข้รายนี้เมื่อตรวจร่างกายส่วนอื่นๆนอกจากเท้าแล้ว ก็พบความผิดปกติอื่นๆอีก ดังนี้

- คนหลังแอ่นมาก (lumbar hyperlordosis)

- กระดูกสันหลังระดับทรวงอกงองุ้ม จะเรียกว่าหลังค่อมก็ได้ (thoracic kyphosis)

- มีลักษณะก้นงอน (anterior pelvic tilt)

- คอยื่น (forward head posture)

- กลุ่มกล้ามเนื้อ iliopsoas ตึงมาก

- กล้ามเนื้อ hamstring ตึงทั้ง 2 ข้าง

- ปุ่มกระดูก PSIS ข้างขวาไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวเมื่อยกขาขวาขึ้นลง บ่งบอกว่าข้อต่อตรงนี้ติดแข็ง (ปุ่มกระดูก PSIS คือ รอยต่อระหว่างกระดูกกระเบนเหน็บกับเชิงกราน)

ภาพแสดง ตำแหน่งของปุ่มกระดูก PSIS 


ซึ่งรูปแบบการรักษาผมจะทำคล้ายๆกับในบทความ เคสน่าศึกษา 02 นะครับ ผมจะไม่ลงรายละเอียดในการรักษาส่วนนี้มาก โดยบทความนี้จะเน้นไปที่เรื่องเท้าแบนเป็นหลักนะครับ หากเพื่อนๆต้องการทราบรูปแบบการรักษาว่าผมทำยังไงบ้าง ให้ดูที่บทความนี้เลยนะ เคสน่าศึกษา 02 ปวดหลังเป็นปีๆ เพราะหลังแอ่นแท้


โอเค พอรู้ลักษณะโครงสร้างร่างกายคนไข้ไปแบบคร่าวๆกันแล้ว ทีนี้เรามาโฟกัสที่เท้ากัน คนไข้เป็นเท้าแบนข้างขวามาประมาณ 2 ปี (2 ปีที่ว่านี้คือ พึ่งสังเกตุเห็นว่าตัวเองเป็นเท้าแบนนะ อาจจะเป็นมานานกว่านั้นก็ได้แต่ไม่ได้สังเกตุเห็นเอง) แล้วการที่เท้าแบนข้างขวาทำให้สะโพกสูงตํ่าห่างกันได้ขนาดไหนดูจากภาพด้านล่างนี้นะครับ 

 

ภาพแสดง เท้าขวาแบน แล้วทำให้ระดับของกระดูกเชิงกรานขวาตํ่าลงกว่าซ้าย 

โดยจุดสีม่วงๆที่เอวนั้น แทนปุ่มกระดูก PSIS นะครับ

 

เพื่อนๆจะเห็นว่าที่อุ้งเท้าด้านในของเท้าขวามันแบนราบติดพื้นไปเลยเมื่อเทียบกับขาซ้าย แต่หากดูไม่ออกว่ามันแบนยังไง ก็ให้สังเกตุเส้นสีเหลืองที่ผมลากจากส้นเท้าขึ้นไปยังน่องนะ  จะเห็นว่าเส้นข้างขวามันเอียงและทำมุมจุดตัดตรงเอ็นร้อยหวายมากกว่า 


เป้าหมายของการรักษาเท้าแบนในรายนี้มี 2 ส่วนก็คือ 

1) ทำให้อุ้งเท้าด้านในที่มันแบนติดพื้นอยู่นั้น ให้มันลอยขึ้นจากพื้นขึ้นมาจนมีอุ้งเท้าเหมือนข้างซ้ายดังเดิมให้ได้ และ 

2) ทำให้เส้นสีเหลืองที่ผมลากของข้างขวาให้มันตรงเหมือนข้างซ้ายให้ได้ 


วิธีการของผมก็คือ ผมให้คนไข้ขยุ้มเท้าขวาขึ้นมาแล้วเกร็งเท้าค้างไว้เลย ผลที่ได้ก็ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ 

 

ภาพเปรียบเทียบระหว่างขยุ้มเท้า (ขวา) กับไม่ขยุ้มเท้า (ซ้าย) 

 

สังเกตุว่าพอให้คนไข้ขยุ้มเท้าขวา อุ้งเท้าข้างขวาเกิดขึ้นทันทีเลย แต่พอมองที่เส้นตรงน่องกับเอ็นร้อยหวายปรากฎว่า เส้นยังคงเอียงอยู่เหมือนเดิมเลย สิ่งนี้บ่งบอกว่าการที่จะให้คนไข้ขยุ้มเท้าอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้หายเท้าแบนได้อย่างถาวรแน่นอน เนื่องจากคนไข้มีโครงสร้างของกระดูกส้นเท้าที่เกิดการบิดร่วมด้วย ต้องแก้ที่ส่วนนี้ถึงจะหายขาด 


ซึ่งวิธีการทำให้ส้นเท้ากลับมาอยู่ในแนวตรงได้ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ไม่ต้องดัด ไม่ต้องดึงอะไรทั้งสิ้น ผมใช้การติดเทปพยุงอุ้งเท้าให้สูงขึ้น และติดเทปที่ส้นเท้าเพื่อไกด์ให้กระดูกส้นเท้ามันบิดกลับมาอยู่ในแนวเดิม หลังจากติดเทปเรียบร้อยก็จะได้ภาพด้านล่างนี้เลยครับ 

 

ภาพการติดเทปที่เท้า ทำให้อุ้งเท้าสูงขึ้น ส้นเท้าบิดน้อยลง และระดับเชิงกราน 2 ข้างเท่ากัน

 

สังเกตุเห็นมั้ยครับว่า หลังจากติดเทปไปแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถึง 3 อย่างด้วยกัน นั่นคือ 

1) ระดับเชิงกรานทั้ง 2 ฝั่งมีความใกล้เคียงกันแล้ว 

2) อุ้งเท้าข้างขวาสูงขึ้น ซึ่งขณะนั้นผมให้คนไข้ยืนตามสบาย ไม่ได้ให้เกร็งอุ้งเท้าแต่อย่างใดนะ

3) ส้นเท้าข้างขวาบิดน้อยลง สังเกตุได้จากเส้นสีเหลืองที่ลากจากเอ็นร้อนหวายไปถึงน่อง

หากเพื่อนๆยังมองความแตกต่างไม่ออก ดูภาพด้านล่างนี้ต่อได้เลยครับ

 

ภาพเปรียบเทียบระหว่างก่อนติดเทป กับหลังติดเทป ในขณะที่คนไข้ขยุ้มเท้าอยู่ทั้ง 2 ภาพ

 

ภาพเดียวกับด้านบน แต่ผมไม่ได้ลากเส้นให้ดู ให้เพื่อนๆลองสังเกตุกันเล่นๆดูนะ

 

พอเพื่อนๆเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างก่อนติดเทป กับหลังติดเทปไปแล้ว ทีนี้ผมจะให้เพื่อนๆดูความแตกต่างในช่วงที่ติดเทปอยู่ โดยเทียบกันระหว่างขยุ้มเท้ากับไม่ขยุ้มเท้าตามภาพด้านล่างนะครับ

ภาพเปรียบเทียบระหว่างขยุ้มเท้า กับไม่ขยุ้มเท้าขณะติดเทป

 

ถ้าสังเกตุที่อุ้งเท้าด้านในให้ดี เราจะเห็นว่าภาพขณะขยุ้มเท้าจะดูมีอุ้งเท้าสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยจนแทบจะไม่เห็นความแตกต่างว่าเป็นเท้าแบนแล้วนะ แล้วผมก็ถามคนไข้ด้วยว่า ขณะติดเทปเนี่ย รู้สึกยังไงบ้าง คนไข้ก็บอกว่า "เหมือนตัวเทปมันช่วยพยุงอุ้งเท้าให้สูงขึ้น แล้วรู้สึกว่าตัวเราไม่ต้องพยายามมากที่จะต้องขยุ้มเท้าอยู่ตลอด เหมือนมีตัวเบาแรงแล้วมีตัวที่คอยกระตุ้นให้เท้าเราอยู่ในแนวนี้ตลอด" 


ทีนี้เรามาดูการทำงานของเทปที่ผมติดให้ดีกว่าครับ ว่าเส้นหลักๆที่ผมติดนี่ ติดเพื่อจุดประสงค์อะไรบ้าง

ภาพแสดง การทำงานของเทปว่าเทปแต่ล่ะส่วนช่วยพยุงเท้ายังไง

 

โดยตัวเทปสีชมพูที่เห็นนั้น ผมติดเพื่อเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ tibialis posterior ซึ่งกล้ามเนื้อมัดนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการดึงอุ้งเท้าให้สูงขึ้นได้นั่นเองครับ เนื่องจากจุดเกาะปลายของกล้ามเนื้อมัดนี้จะไปเกาะที่อุ้งเท้าด้านในพอดี ถ้ากล้ามเนื้อมัดนี้แข็งแรงจะเป็นเรื่องง่ายที่จะช่วยให้อุ้งเท้าสูงขึ้นได้ 

กล้ามเนื้อ tibialis posterior (มองจากด้านหลัง)


แต่จะแก้ที่อุ้งเท้าอย่างเดียวคงไม่ครบ เพราะส้นเท้ายังบิดอยู่ ผมจึงติดเทปสีขาวที่ด้านข้างส้นเท้าจากส้นเท้าด้านนอกดึงเทปรัดส้นเท้าเข้ามาติดทางด้านใน เพียงเท่านี้ส้นเท้าที่บิดอยู่ก็กลับมาแนวตรงแล้วครับ 


ถึงแม้เท้าจะดูหายแบนแล้ว แต่มันอยู่ได้เพราะมีเทปคอยช่วยพยุงอยู่ถ้าถอดเทปไปก็มีโอกาสสูงทีเดียวที่จะกลับมาเท้าแบนเหมือนเดิม ฉะนั้น ระหว่างที่ติดเทปอยู่ ผมจะแนะนำให้คนไข้ทำอยู่ 2 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ 


1) ฝึกยืนเขย่งปลายเท้าขึ้นลงช้าๆ เพราะการเขย่งปลายเท้าเป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อ tibialis posterior แข็งแรงเพิ่มขึ้น โดยจะให้ยืนเขย่งวันล่ะ 100 ครั้ง คือ ถ้าว่างก็ยืนเขย่งขึ้นลงไปเรื่อยๆ (แต่ไม่ให้ทำ 100 ครั้งรวดเดียวนะ กล้ามเนื้อมันจะล้าเกินไป)


2) เวลาที่ยืน เดิน ให้คนไข้พยายามขยุ้มเท้าหน่อยๆอยู่ตลอดเวลา แล้วให้จับความรู้สึกว่าเราลงนํ้าหนักที่ข้างเท้ามากกว่าที่อุ้งเท้านะ (เหมือนตะแคงเท้ายืนหน่อยๆ) ซึ่งการทำแบบนี้ก็เพื่อให้กล้ามเนื้อในอุ้งเท้าแข็งแรง และกระตุ้นการเรียนรู้ของกล้ามเนื้อในอุ้งเท้าไปในตัวด้วยว่า ต้องออกแรงแบบนี้นะ เท้าจะได้กลับมาอยู่ในแนวเดิมนะเฮ้ย ทำนองนี้แหละครับ 

ท่าออกกำลังกายแก้เท้าแบน โดยการขยุ้มเท้าให้อุ้งเท้าสูงขึ้น โดยที่ไม่งอนิ้วเท้าเข้ามา

เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเท้ามัดลึก

 

ภาพเปรียบเทียบ เท้าก่อนติดเทป และหลังติดเทป

 

หลังอ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆก็พอจะเห็นภาพรวมการรักษาที่ผมใช้ในคนไข้เท้าแบนรายนี้แล้วนะ ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อนมากมาย แค่คิดเทป ออกกำลังกายเท้า แล้วให้มีสติกับการลงนํ้าหนักที่เท้าตลอดแค่นั้นเอง 


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีคนที่เท้าแบนทักเข้ามาสอบถามเช่นกันว่า ถ้าเราไม่สามารถไปหานักกายภาพที่แก้เรื่องเท้าแบนแบบนี้ได้ แล้วซื้อแผ่นเสริมรองเท้าที่มีอุ้งเท้าแทนล่ะ มันจะเหมือนกันมั้ย? 


เรื่องนี้ต้องดูเป็นเคสต่อเคสไปครับ ยกตัวอย่างในเคสนี้ ถ้าเคสนี้ไปซื้อแผ่นเสริมอุ้งเท้ามาใส่ แล้วใส่ตลอดเวลาเลยนะทั้งในบ้านและนอกบ้าน ภายในไม่กี่วันคนไข้รายนี้น่าจะบ่นเหมือนหลายๆเคสที่ผมเจอว่า "แผ่นเสริมอุ้งเท้าอันนี้มันไปกดกับกระดูกตรงอุ้งเท้า ยิ่งใส่แล้วยิ่งเจ็บกว่าเดิมอีก" สุดท้ายก็เลิกใส่แผ่นเสริมอุ้งเท้าไปในที่สุด เพราะทนเจ็บตัวแแผ่นเสริมอุ้งเท้าที่มันไปกดกระดูกไม่ไหว ทำไมถึงเป็นแบบนั้นได้ล่ะ...?


นั่นก็เพราะตัวปัญหาจริงๆมันอยู่ที่กระดูกส้นเท้าที่มันโย้ออกไปด้านนอกนั่นเองครับ เราต้องปรับตัวส้นเท้าให้กลับมาอยู่ในแนวตรงดังเดิมก่อน ไม่เช่นนั้นมันก็เหมือนกับในเคสนี้ที่ขยุ้มเท้าแล้ว อุ้งเท้ามันสูงขึ้น แต่ส้นเท้ามันยังบิดอยู่เหมือนเดิมดูได้จากเส้นสีเหลืองที่ลากนั่นแหละครับ 

ภาพขวา ขยุ้มเท้าจนอุ้งเท้าดูสูงขึ้นแล้ว แต่ส้นเท้ายังคงบิดอยู่เช่นเดิม

 

ซึ่งถ้าไม่แก้ที่ส้นเท้าให้ตรง แต่ใช้แผ่นเสริมอุ้งเท้า หรือเอาเทปไปรัดที่อุ้งเท้าให้สูงขึ้นโดยตรงเลยเนี่ย เวลาคนไข้ยืน หรือเดิน การลงนํ้าหนักของเท้ามันก็ยังคงไปลงที่อุ้งเท้าด้านในอยู่ดี เท้าก็แบนเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือความเจ็บปวดของอุ้งเท้าด้านในจากการโดนกดที่มากขึ้น


แต่ก็มีบางเคสที่โครงสร้างเท้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร การใส่แผ่นเสริมรองเท้าก็ช่วยประคับประคองไม่ให้เท้าแบนมากกว่าเดิมได้ แล้วก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกปวดขณะใช้ด้วย แต่ก็ต้องออกกำลังกายกล้ามเนื้อเท้าอยู่ดีเพื่อให้เท้ากลับเข้าสู่โครงสร้างเท้าปกติ 


แล้วก็มีอีกบางเคสที่ทั้งเท้าแบน แล้วโครงสร้างข้อต่อกระดูกในเท้ายึดติดกันแน่นมาก ไม่มีความยืดหยุ่นเลย ให้ลองขยุ้มเท้า อุ้งเท้าก็ไม่ขึ้น ลองให้หมุนควงเท้าวนซ้ายวนขวา องศาของเท้าก็หมุนได้น้อยมากๆ ลองดัดขยับข้อต่อในเท้าเบาๆ ก็รู้สึกว่าข้อต่อติดแข็งปั๊กไม่กระดิกเลย ถ้าเป็นลักษณะนี้คือต้องดัดข้อต่อต่างๆภายในเท้า และดัดข้อเท้าก่อนเลยครับ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อภายในเท้า ซึ่งเคสนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการใส่แผ่นเสริมรองเท้า หรือการติดเทปที่เท้าเลยนะ ถ้าข้อต่อภายในเท้ายังติดกันแน่นเสริมอะไรเข้าไปก็ไม่เป็นผลแน่นอนครับ 

 

โครงสร้างกระดูกในเท้า ที่มีกระดูกหลายชิ้นมาต่อกัน แต่ก็มีความยืดหยุ่นมากเช่นกัน

 

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไข้เท้าแบนหลายคนจะมีความรู้สึกว่าการไปหาซื้อแผ่นเสริมรองเท้ามาใช้เอง โดยที่ไม่ได้ให้ผู้ที่มีความชำนาญเรื่องเท้าตรวจก่อน จะรู้สึกว่าการใส่แผ่นเสริมมันไม่ค่อยได้ผล แล้วเรื่องเท้าจะมีความสำคัญมากต่ออาการปวดทั่วทั้งร่างกาย ถ้าคนไข้ที่เดินมาหาผมแล้วบอกว่ามีอาการปวดอะไรก็ตามตั้งแต่หลังลงไป ผมจะก้มไปมองที่เท้าก่อนเสมอว่าเท้าผิดปกติอะไรรึเปล่า เพราะเท้าคือฐานของการลงนํ้าหนักที่สำคัญมากๆขณะที่เรายืน เดิน วิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำ จงหมั่นดูแลสุขภาพเท้าให้ดีไว้ตลอดนะครับ มีหลายเคสที่ไม่สามารถออกกำลังกายที่ตนเองชอบได้เพราะละเลยเรื่องการดูแลเท้าเนี่ยแหละ 

หากเพื่อนๆมีข้อสงสัยอะไรเดี่ยวกับเท้าก็ลองทักเข้ามาคุยกันได้ที่ https://www.facebook.com/doobodys/ ผมเชื่อแหละว่า หลังจากอ่านบทความนี้จบคงมีคำถามต่อยอดให้สงสัยเพิ่มกันอีกเพียบแน่เลย ^^ 

 

 

16 ธันวาคม 2561

ผู้ชม 8419 ครั้ง

    Engine by shopup.com