shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12642883

ดูบทความosgood schlatter อาการปวดเข่า เข่าปูดในวัยรุ่น ที่ปวดจนนั่งคุกเข่าไม่ได้

osgood schlatter อาการปวดเข่า เข่าปูดในวัยรุ่น ที่ปวดจนนั่งคุกเข่าไม่ได้

 

โรค osgood schlatter disease (OSD)

หรือ โรคหัวเข่าปูดจากปุ่มกระดูกอักเสบ

 

ถ้าพูดถึงสาเหตุของอาการปวดเข่า เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงโรคข้อเข่าเสื่อม เอ็นไหว้หน้าอักเสบ หมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด โรครูมาตอยด์ เก๊าต์ เป็นต้น ซึ่งโรคที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ มักพบในในวัยกลางคนจนถึงวัยผู้สูงอายุซะมากกว่า แต่ถ้าพบในวัยรุ่น วัยเด็ก หรือนักกีฬาล่ะก็จะมีเพียงไม่กี่โรคหรอกครับ และหนึ่งในนั้นก็คือ โรค osgood schlater disease ซึ่งเป็นภาวะที่หัวกระดูกหน้าแข้งใกล้ๆข้อเข่า (tibial tuberosity) เกิดการอักเสบ หรือไม่ก็แตกร้าวจากแรงดึงของเส้นเอ็นที่มาเกาะอยู่บริเวณนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงขามากๆ เช่น วิ่ง กระโดด และถ้านั่งคุกเข่าไม่ได้ด้วยแล้วล่ะก็ ใช่เลยครับสำหรับโรคนี้ เพราะขณะที่เรานั่งคุกเข่า เจ้าเศษกระดูกตรงหน้าเข่านั้น มันจะกดอัดกับเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อรอบๆทำให้เกิดอาการปวดนั่นเอง

 

ภาพแสดงโครงสร้างของเข่า และตำแหน่งที่ทำให้เกิดโรค osgood schlatter

 

สาเหตุของโรค osgood schlatter disease

 

โรคนี้โดยมากมักพบในวัยเด็ก วัยรุ่น และในนักกีฬาเสียเป็นส่วนใหญ่ครับผม และโดยเฉพาะนักกีฬาจะพบได้มากที่สุด ซึ่งกีฬาหรือกิจกรรมที่จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคนี้ยกตัวอย่างเช่น การวิ่ง ซึ่งการวิ่งไม่ใช่การวิ่งมาราธอนนะ แต่เป็นการวิ่งระยะสั้น 100 เมตร 200 เมตร, กีฬาที่เกี่ยวข้องกับการกระโดด เช่น บาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล หรือจะเป็นกีฬาที่มีการวิ่งระยะสั้นสลับกับหยุดวิ่งเป็นระยะๆ เช่น ฟุตบอล รักบี้ เป็นต้น 

 

ภาพแสดงกระดูกเข่าที่แตกออก

 

ซึ่งสาเหตุที่กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เป็นโรค osgood schlatter disease ได้ง่ายเนื่องจาก ขณะที่เราออกแรงกล้ามเนื้อต้นขาให้หดตัวมากๆในการวิ่ง หรือกระโดด จะทำให้เส้นเอ็นตรงใต้กระดูกลูกสะบ้าเกิดการตึงตัวตามและดึงรั้งปุ่มกระดูกใต้เข่า (tibial tuberosity) ที่มันเกาะอยู่ ทำให้ผิวกระดูกบริเวณนั้นเกิดการแตกร้าวขึ้นเล็กๆจากแรงดึง แต่ถ้ายังคงมีการทำกิจกรรมหนักๆอย่างต่อเนื่อง ผิวกระดูกก็แตกร้าวมากขึ้นจนเกิดอาการปวดที่หน้าเข่าได้ในที่สุด และหากผู้ป่วยยังเป็นเด็กอายุอยู่ในช่วง 8-12 ปี แล้วชอบเล่นกีฬาก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าปกติ เนื่องจากในวัยเด็ก มวลกระดูกยังไม่แข็งแรงมาก เมื่อเกิดการดึงรั้ง เกิดการกระชากของเส้นเอ็นหน้ากระดูกจึงทำให้กระดูกแตกร้าวได้ง่ายกว่าปกตินั่นเองครับผม ส่วนใหญ่จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงนะ

 

ภาพมองจากด้านข้างเข่า ของตำแหน่งที่กระดูกหน้าเข่าแตก

 

นอกจากในวัยเด็กที่ชอบเล่นกีฬาแล้ว คนทั่วไปก็พบได้เช่นเดียวกัน แต่โดยมากมักเกิดจากอุบัติเหตุซะมากกว่านะ เช่น การหกล้มหัวเข่ากระแทกพื้น ทำให้ปุ่มกระดูกหน้าเข่าแตกร้าว หรือเกิดอุบัติเหตุมีของแข็งมาโดนที่หน้าเข่าตรงปุ่มกระดูก เป็นต้น

 

ภาพเปรียบเทียบเข่าข้างปกติกับข้างที่เป็นโรคของผมครับ 

จำได้ว่าเป็นตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันนี้เข่าก็ยังปูดนูนอยู่ แต่ไม่มีอาการปวดใดๆแล้ว

 

อาการของโรค osgood schlatter disease

 

อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้ก็คือ จะมีอาการเจ็บที่หน้าเข่าเมื่อวิ่ง หรือกระโดด เมื่อใช้มือกดลงไปตรงปุ่มกระดูกหน้าเข่าจะมีอาการปวดมากขึ้น ไม่สามารถนั่งคุกเข่าได้เพราะแรงกดของนํ้าหนักตัวกดลงไปที่เข่าจะไปกดตรงกระดูกที่แตกร้าวทำให้เกิดอาการปวด 

 

นอกจากนี้ก็จะสังเกตุได้ว่าปุ่มกระดูกตรงหน้าเข่านั้น มันมีลักษณะปูดบวมมากกว่าข้างปกติอย่างเห็นได้ชัด ในระยะแรกที่เป็นใหม่ๆอาจมีกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps) มันตึงมากกว่าปกติ และเมื่อเอามืออังที่ปุ่มกระดูกจะรู้สึกอุ่นๆ และผิวหนังโดยรอบมีสีแดงเล็กน้อยจากการอักเสบ

 

เมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่ปุ่มกระดูกหน้าข้อเข่าจะทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น

 

การรักษาของโรค osgood schlatter disease

 

สำหรับโรคนี้ไม่ต้องเข้ารับการรักษาอะไรมากก็ได้ครับ เพราะมันไม่ใช่การบาดเจ็บที่ใหญ่มากจนทำให้เกิดอันตรายอะไรได้ครับผม หลักๆคือหากพบว่าตนเองมีอาการปวดปุ่มกระดูกตรงหน้าเข่ามา กดลงไปตรงปุ่มกระดูกแล้วเจ็บ นั่งคุกเข่าไม่ได้ วิ่งเร็วไม่ได้เหมือนเดิมเนื่องจากอาการบาดเจ็บก็ให้หยุดพักก่อนครับ แล้วใช้การประคบนํ้าแข็ง หรือผ้าเย็นบริเวณที่ปวดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้เศษกระดูกที่แตกร้าวอยู่เกิดการแตกมากขึ้น และลดการอักเสบ ซึ่งการพักนั้นอาจกินเวลา 15 วัน หรือมากกว่า 1 เดือนก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคลครับผม แต่ระหว่างที่พักผู้ป่วยก็ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถเดินได้ นั่งได้ เพียงแต่เมื่อวิ่ง หรือเดินขึ้นบันไดอาจจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้นเท่านั้นเองครับผม 

 

นอกจากนี้ก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าร่วมด้วย เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะแรกๆ นอกจากจะมีอาการปวดแล้ว กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าก็ยังมีความตึงมากด้วย ก็ใช้การยืดกล้ามเนื้อต้นขาตามคลิปด้านล่างนี้เลยครับผม โดยยืดค้างไว้ 15 วินาที นะครับ

 

วิธียืดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า (quadriceps)

 

ส่วนปุ่มกระดูกที่ปูดยื่นออกมานั้น เราคงไม่สามารถทำอะไรมันได้ครับ ไม่ต้องไปกด ดัน หรือผ่าตัดใดๆทั้งสิ้น เพราะโครงสร้างกระดูกเหล่านั้นมันเกิดการเชื่อมติดกัน และเปลี่ยนรูปร่างไปแล้วครับผม 

 

เครดิตภาพ

- http://kneesafe.com/osgood-schlatter-disease/

- https://en.wikipedia.org/wiki/Osgood%E2%80%93Schlatter_disease

- https://www.gillettechildrens.org/conditions-and-care/osgood-schlatter-disease/

- http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00411

- http://emedicine.medscape.com/article/1993268-overview

21 มีนาคม 2560

ผู้ชม 95641 ครั้ง

    Engine by shopup.com