ดูบทความ
ดูบทความรู้สึกว่ามีขาอยู่ ทั้งๆที่ขาขาด กับอาการปวดหลอนแปลกๆในผู้พิการ ที่คนอื่นยากจะเข้าใจ
รู้สึกว่ามีขาอยู่ ทั้งๆที่ขาขาด กับอาการปวดหลอนแปลกๆในผู้พิการ ที่คนอื่นยากจะเข้าใจ
อาการปวดหลอน (phantom limb syndrome)
เมื่อพูดถึงอาการปวดหลอน มักจะเกิดในบุคคลที่สูญเสียอวัยวะไป ไม่ว่าจะเสียจากอวัยวะจากการผ่าตัด จากอุบัติเหตุ จากโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ติดเชื้อ เป็นต้น แต่เคยสงสัยกันมั้ยครับว่า ผู้ป่วยบางคนทั้งๆที่แขน-ขาขาดไปแล้ว แต่ทำไมยังคงรู้สึกปวดอวัยวะส่วนนนั้นๆอยู่ บางครั้งก็รู้สึกว่ากำลังงอแขนเข้าหาตัวทั้งที่แขนขาดไป บางครั้งก็รู้สึกว่าคันที่ฝ่าเท้าทั้งที่เท้าขาดไปแล้วจากโรคเบาหวาน เรื่องนี้มีคำอธิบายง่ายๆมาฝากกันครับ
จากที่เกริ่นข้อมูลมาเบื้องต้น อาการปวดแปลกๆแบบนั้นจะเรียกกันว่า อาการปวดหลอน หรือ phantom pain ซึ่งเป็นอาการสำคัญของผู้ที่พึ่งสูญเสียอวัยวะไปไม่นาน และร่างกายยังคงปรับตัวไม่ได้ เส้นประสาทที่เคยไปเลี้ยงส่วนนั้นยังไม่คุ้นชิน จึงทำให้เกิดอาการปวดหลอนดังกล่าว
ซึ่งอาการปวดหลอนนั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้ที่แขนขาด หรือขาขาดเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ที่อวัยวะอื่นๆได้ด้วยเช่นเดียวกันครับ เช่น ที่เต้านม มดลูก อวัยวะเพศ(ชาย) หรือแม้กระทั่งลำไส้เอง สาเหตุที่เรายังคงรู้สึกว่ามีอวัยวะส่วนนั้นเกิดจากสมองส่วน thalamus และ cerebral cortex ที่ทำหน้าที่จดจำอวัยวะต่างๆของเรามีรูปร่างและทำหน้าที่อะไรนั้น เมื่อสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นๆไปแล้ว แต่สมองยังคงเข้าใจว่าเรายังมีอวัยวะส่วนนั้นอยู่ทำให้มีความรู้สึกว่าเรากำลังขยับอวัยวะได้ หรือรู้สึกปวด เป็นตะคริว ชา คันจนอยากจะเกาตรงส่วนที่มันขาดไปร่วมด้วยก็ได้ครับ
สาเหตุที่เกิดขึ้นนอกจากเกิดที่สมองแล้วยังเกิดจากเส้นประสาทส่วนปลายของอวัยวะที่ถูกตัดขาดไปยังคงส่งกระแสประสาทตามปกติ เพราะเส้นประสาทเองก็มีหน่วยความจำเล็กๆอยู่ด้วย ทำให้เรารู้สึกว่ามีอวัยวะอยู่ตามเดิม และอีก 1 สาเหตุที่ยังทำให้เกิดอาการปวดมากตรงส่วนที่ขาด แม้จะไม่มีแผลแล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากปลายประสาทมีการงอกขึ้นมาใหม่ตรงส่วนนั้น ซึ่งเส้นประสาทที่งอกมาใหม่จะมีการรับความรู้สึกที่ไวกว่าปกติมากๆ เพียงแค่ลมพัดผ่านอวัยวะที่ถูกตัดไปก็รู้สึกปวดขึ้นมาได้แล้วละครับ ผมอธิบายกลไกการเกิดอาการปวดจากเส้นประสาทที่งอกขึ้นมาใหม่โดยละเอียดไว้ในบทความนี้แล้วครับ (ผ่าเข่าครบปี แต่ทำไมยังเจ็บเข่าอยู่ทั้งที่แผลหายแล้วละ)
ลักษณะอาการปวดหลอน (phantom pain) เป็นอย่างไร
- ยังคงรู้สึกว่ามีแขน-ขาอยู่เหมือนเดิม ทั้งๆที่รู้สึกตัวเป็นอย่างดี
- รู้สึกว่าแขน-ขาขยับได้ เช่น ขณะที่เราออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง ขณะวิ่งเราต้องแกว่งแขนเป็นจังหวะ ในกรณีที่ถูกตัดแขนขวาไปแล้ว เราจะรู้สึกว่าแขนข้างขวาของเรากำลังแกว่งตามจังหวะการวิ่งร่วมด้วย
- รู้สึกแขน-ขาสั้นลง หรือไม่ก็ยาวขึ้น ไม่แน่นอน
- รู้สึกเป็นตะคริว ร้อน เย็นบริเวณอวัยวะที่ถูกตัดไป
- อาการปวดหลอนจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากฟื้นจากยาสลบ ซึ่งอาการปวดหลอนจะเกิดขึ้นเป็นปีๆหรือหลายสิบปีเลยก็ได้ครับ อาการนั้นจะไม่หายไปในทันทีแต่จะค่อยๆทุเลาลงมากกว่าครับ
การบรรเทาอาการปวดหลอน
- ทำความเข้าใจทั้งก่อนและหลังสูญเสียอวัยวะว่า หลังจากตัดอวัยวะออกไปจะต้องเกิดอาการปวดหลอนแน่นอน เพื่อไม่ให้เกิดความวิตก เครียดซึ่งจะทำให้อาการปวดหลอนรุนแรงขึ้นได้ และที่สำคัญก็คือ อาการปวดหลอนนั้นหายได้เองไม่ต้องรักษาก็ได้ครับ
- การทานยาลดปวดประสาท
- การกระตุ้นไฟฟ้า (TENs) ที่ส่วนปลายของอวัยวะที่ขาดไป เพื่อลดการส่งสัญญาณประสาททำให้อาการปวด หรือความรู้สึกของอวัยวะที่ขาดไปลดน้อยลง
- การนวดการสัมผัสบริเวณที่ขาดบ่อยๆ เพื่อลดการหดรั้งของกล้ามเนื้อและให้แผลเป็นอ่อนนุ่มลง
- การกระตุ้นการสัมผัสโดยการเคาะ การลูบ การถูโดยใช้วัสดุที่แตกต่างกัน เช่น ใช้สำลี ใช้ผ้าที่มีพื้นผิวหยาบ-นุ่มสลับกัน ฟองนํ้า เป็นต้น เพื่อให้เกิดการรับรู้ความรู้สึกใหม่ๆหลังจากที่เส้นประสาทส่วนปลายบางส่วนฉีกขาดไป
- การทำ biofeedback หรือการสะท้อนกลับของสมอง โดยการเคลื่อนไหวอวัยวะที่สูญเสียไปหน้ากระจกแล้วตาก็มองอวัยวะนั้นร่วมด้วย เพื่อเป็นการป้อนข้อมูลความจริงใหม่ๆให้แก่สมอง เพื่อให้สมองลบภาพความทรงจำเก่าๆว่ายังมีอวัยวะส่วนนั้นอยู่ อาการปวดรวมทั้งความรู้สึกเก่าๆก็จะค่อยๆลดลง (การฝึกนี้สำคัญมาก)
- การแช่นํ้าอุ่นก็เป็นการลดปวดที่ได้ผลดีไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยลดความไวของสัญญาณประสาททำให้อาการปวดลดลงได้เช่นกัน
อย่างที่ได้กล่าวไป ถึงแม้จะพยายามลดอาการปวดหลอนด้วยสาระพัดวิธีแล้ว แต่อาการปวดก็ยังไม่หายสักที ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกไปครับ เพราะอาการดังกล่าวใช้เวลาร่วมปีกว่าจะหายไป ที่เราต้องทำก็มีเพียงแค่เข้าใจกับอาการที่เกิดขึ้นและค่อยๆปรับตัวนะครับ
เครดิตภาพ
- http://www.gettyimages.com/detail/video/athlete-with-prosthetic-leg-stock-footage/96377247
29 มกราคม 2560
ผู้ชม 9421 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น