ดูบทความ
ดูบทความทำไมต้องทำกายภาพบำบัด หลังผ่าตัดด้วยละ
ทำไมต้องทำกายภาพบำบัด หลังผ่าตัดด้วยละ
ครั้งนึง มีอาม่ามาทำกายภาพหลังผ่าตัดเข่าเข่าด้วยอารมณ์บูดๆ (สงสัยนอนโรงพยาบาลมานานแล้วอยากกลับบ้านไวๆ) มาถึงก็สะกิดผมทันทีว่า "ทำไมอั้วต้องมาทำกายภาพด้วยอ่า หมอผ่าตัดให้แล้วก็น่าจะเสร็จเดินได้แล้วไม่ใช้หรอ?" นั่นทำให้ผมตระหนักได้ทันทีว่ามีคนไข้จำนวนมากแน่ๆที่ยังคงเข้าใจว่า หลังผ่าตัดก็ถือว่าเสร็จสิ้นการรักษา สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเลย อยากจะบอกว่าคนนะคร้าบบบไม่ใช่อะไหล่รถยนต์ที่เข้าอู่ซ่อมรถเปลี่ยนอะไหล่นู่นนี่นั่นแล้วกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ร่างกายของคนเรานั้นมีอะไรซับซ้อนกว่านั้นมาก
เหตุผลที่เราต้องทำกายภาพหลังผ่าตัด
เหตุผลที่ 1 : เพื่อลดปวด ลดบวม ลดอักเสบบริเวณรอบๆแผลผ่าตัด
ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด แน่นอนเลยหลังผ่าตัดพบว่ามีอาการปวดกันทุกราย นอกจากนี้จะมีอาการบวม แดง ร้อนด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากสารนํ้าและเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณแผลมาก เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย และเส้นเลือดฝอยบางเส้นฉีกขาดการไหลเวียนเลือดบริเวณแผลจึงทำได้ไม่ดี เกิดอาการบวมขึ้น นักกายภาพจะมีหน้าที่ลดปวด ลดบวม โดยการยกอวัยวะให้สูงกว่าระดับหัวใจ (ในกรณีที่ผ่าตัดแขนหรือขา) ประคบเย็นบริเวณแผลเพื่อลดอักเสบ กระตุ้นไฟฟ้ารอบๆแผลเพื่อลดปวด การนวดไล่สารนํ้ารอบๆแผลผ่าตัดเพื่อลดบวม ให้คำปรึกษาในการดูแลตนเอง ข้อห้ามข้อควรระวังต่างๆ เช่น ห้ามใช้ผ้าร้อนประคบบริเวณแผลเพราะจะทำให้แผลบวมมากขึ้น เป็นต้น
เหตุผลที่ 2 : เพื่อฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรงดังเดิม
หลังจากที่ผ่าตัดมาใหม่ๆ คงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้ร่างกายส่วนนั้นอยู่นิ่งๆ เพื่อให้แผลยึดติดกันดี ซึ่งการที่เราไม่ขยับร่างกายหรืออวัยวะส่วนใดๆส่วนหนึ่งนานเกิน 2 อาทิตย์ก็เพียงพอที่ทำให้กล้ามเนื้อฝ่อแล้วละครับ สังเกตุง่ายๆเลย ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดขามาแล้วมาฝึกเดินใหม่ๆจะพบว่าเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็รู้สึกล้าขา รู้สึกเมื่อยขามากกว่าขาข้างที่ไม่ได้ผ่า หรือถ้าผ่าที่แขนก็รู้สึกว่ายกแขนไม่กี่ทีก็ล้า แขนสั่นเมื่อยกของหนัก บางรายต้องใส่เฝือกที่แขนอีกก็มีปัญหาเรื่องไหล่ติดตามมาอีก ดังนั้น การฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ถ้าไม่ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อตามที่นักกายภาพบอกละจะเกิดอะไรขึ้น?
มีผลเสียแน่นอนครับ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ผ่าตัดข้อสะโพก หรือข้อเข่า ท่านทั้งหลายอาจเคยเจอญาติหรือคนรู้จักที่ผ่าตัดข้อสะโพกเสร็จแล้ว ปรากฎว่าหลังผ่าตัดผ่านไปหลายเดือนแล้วผู้ป่วยก็ยังคงเดินไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์ตลอดเวลา หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหม่เพราะข้อสะโพกหลุดซํ้า เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากกำลังกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงทั้งสิ้น ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะพยุงข้อต่อนั่นเองครับ
เหตุผลที่ 3 : เพื่อป้องกันปัญหาข้อติด หรือเพื่อเพิ่มองศาข้อต่อที่ติดแข็ง
ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อติดหลังผ่าตัดแทบทุกรายคือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดบริเวณเข่าครับ ก่อนผ่าตัดนี่ก็งอเข่าได้ดีอยู่แต่หลังผ่าตัดปรากฎงอเข่าไม่ได้ ขาแข็งทื้อเหมือนท่อนซุงกันเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากอาการปวดนั่นแหละครับ ผู้ป่วยจึงเลี่ยงที่จะงอเข่า และเมื่อไม่ยอมงอเข่าติดต่อกันเป็นเวลานานเข้าจะทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และพังผืดภายในข้อเกิดการหดรั้ง จนในที่สุดผู้ป่วยก็เกิดภาวะข้อติดขึ้น ซึ่งสร้างปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการนั่ง การขึ้นบันได หรือแม้กระทั่งการเดินที่ไม่สามารถงอเข่าได้เต็มที่ และเสี่ยงต่อการล้มอย่างมาก นักกายภาพจะมีบทบาทในส่วนนี้อย่างมากในการทำความเข้าใจกับผู้ป่วยทั้งก่อนผ่าและหลังผ่า ให้ผู้ป่วยพยายามฝืนเคลื่อนไหวข้อต่อให้ได้มากที่สุด และผู้ป่วยก็ไม่ค่อยยอมทำกันหรอกครับ เพราะมันเจ็บไงครับ นักกายภาพจึงต้องกระตุ้นผู้ป่วยในส่วนนี้อย่างมากเลยละครับ
เครดิตภาพ
http://www.bodywisesarasota.com/
07 พฤศจิกายน 2559
ผู้ชม 27176 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น