ดูบทความ
ดูบทความทำไม...ยิ่งดึงหลังอาการยิ่งทรุด กับคนเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น
ทำไม...ยิ่งดึงหลังอาการยิ่งทรุด กับคนเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น
ใครที่เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้วไปทำกายภาพโดยใช้เครื่องดึงหลังกันบ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่เคยกันแทบทั้งนั้นนะ แต่ทีนี้มีผู้ป่วยบางรายที่ไปดึงหลัง พอดึงหลังไปได้สักพักจู่ๆรู้สึกปวดหลังขึ้นมาซะงั้น แรกๆก็ไม่คิดไรมาก แต่พอไปดึงหลังครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ก็ปวดหลังเพิ่มขึ้นทุกครั้งเลย ทั้งที่คนอื่นดึงแล้วหายปวด แต่เราดันปวดเพิ่มขึ้น? เป็นไปได้ไงกัน? ทำไมยิ่งดึงหลังยิ่งปวดเพิ่มขึ้นได้อ่ะ? นี่เป็นคำถามที่ถูกถามมากที่สุด ฉะนั้น ในบทความนี้ผมจะมาอธิบายว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไรกัน
ทำไมดึงหลัง แล้วยิ่งปวดหลัง?
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ลักษณะการปลิ้นของหมอนรองกระดูกสันหลังนั้นมี 3 แบบด้วยกันนะครับ คือ
แบบที่ 1 : ปลิ้นมาทางด้านหลังตรงๆ (posterior) ซึ่งลักษณะจะไปกดทับที่ไขสันหลัง (spinal cord) โดยตรง จัดว่าเป็นอาการปวดหลังที่รุนแรงมาก
แบบที่ 2 : shoulder type ลักษณะนี้คือ จะปลิ้นออกทางด้านข้างเยื้องไปด้านหลัง ซึ่งทำให้ไปกดเบียดรากประสาทที่ออกมาขากไขสันหลังอีกที
แบบที่ 3 : axillary type ลักษณะนี้จะปลิ้นออกมาคล้ายกับแบบที่ 2 นะครับ แต่ต่างกันที่ตำแหน่งที่ปลิ้นออกมาเล็กน้อยคือ มันปลิ้นออกมาตรงกลางระหว่างรากประสาทและไขสันหลัง ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกับลำตัวเราคือไขสันหลังแล้งกางแขนออก แขนที่กางออกก็เหมือนกับรากประสาท ซึ่งตำแหน่งที่ปลิ้นออกมาดันไปกระจุกอยู่ที่ใต้หัวไหล่เรานั่นเอง แล้วเจ้าแบบที่ 3 เนี่ยแหละครับที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังมากขึ้นเมื่อเราดึงหลัง
ทำไมหมอนรองกระดูกปลิ้นแบบ axillary type ถึงทำให้ปวดมากเมื่อดึงหลัง?
ถ้าให้สรุปสั้นๆเลยก็คงตอบว่า เกิดจากตัวหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมานั้นไปงัดกับรากประสาทในขณะที่ข้อกระดูกสันหลังถูกยืดในขณะดึงหลัง สรุปสั้นๆแบบนี้เข้าใจมั้ย? ถ้าไม่เข้าใจไปดูภาพประกอบด้านล่างเลยครับ
L4 และ L5 คือ หมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และ ข้อที่ 5
จากภาพด้านบนแสดงตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทั้ง 2 แบบ
โดยภาพซ้ายคือ shoulder type จะสังเกตุเห็นว่าตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาจะค่อนไปทางด้านข้างพอสมควร
ส่วนภาพขวาคือ axillary type ตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นจะอยู่กึ่งกลางระหว่างประสาทไขสันหลังกับรากประสาท ซึ่งมีโอกาสที่จะไปกดเบียดได้ทั้งรากประสาทและเส้นประสาทไขสันหลัง
ถ้าให้เปรียบเทียบเส้นประสาทไขสันหลังกับรากประสาทก็เหมือนกับคนที่กำลังยืนกางแขนอยู่
ทีนี้เมื่อถูกดึงหลัง แรงดึงจากเครื่องดึงหลังจะทำให้ข้อกระดูกสันหลังแต่ละข้อห่างออกจากกัน ความกว้างของหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่หมอนรองกระดูกปลิ้นแบบ axillary type มันเหมือนกับฝันร้าย เพราะเมื่อข้อปล้องถูกดึงลงจะทำให้รากประสาทไปติดกับหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมา ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ถูกดึงหลัง บางรายก่อนดึงหลังก็ยังพอเดินได้ แต่เมื่อดึงเสร็จต้องนอนเปลออกไปเลยก็มี ฉะนั้น ในขณะที่ดึงหลังอยู่แล้วรู้สึกอาการปวดแย่ลงเรื่อยๆควรแจ้งนักกายภาพหรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้ทราบ เพื่อที่จะหยุดเครื่องนะครับ
ภาพแสดงวิธีการตรวจเพื่อแยกว่าเป็นหมอนรองกระดูกประเถทไหน
แล้วจะรู้ได้ไงว่าเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นแบบไหน?
วิธีการตรวจแยกว่าเป็น shoulder type หรือ axillary type ให้เรายืนตรงแล้วเอียงตัว (lateral bending) ไปทางซ้ายและขวาสลับกันครับ หากเอียงตัวไปทางซ้ายแล้วรู้สึกปวดหลังมากขึ้น ชามากขึ้นแสดงว่าเป็น shoulder type แต่หากเอียงขวาแล้วมีอาการปวดมากขึ้นแสดงว่าเป็น axillary type ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น การตรวจลักษณะนี้อาจไม่เห็นความแตกต่างชัดมากนัก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังในระยะเฉียบพลัน หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับไขสันหลังตรงๆครับ
ปล. หากผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมากขึ้นขณะดึงหลังควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้หยุดเครื่องทันที
ปลล. หากดึงหลังแล้วมีอาการปวดหลังเพิ่มขึ้นทุกๆครั้ง ควรปฎิเสธการรักษาโดยการใช้เครื่องดึงหลังไปนะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเค้าจะว่าอะไร เพราวิธีการรักษาของผู้ป่วยหมอนรองกระดูกสันหลังนั้นมีอะไรมากกว่าแค่การดึงหลังครับผม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท (หมอนรองกระดูกทับเส้น โรคยอดฮิตที่ใครๆก็รู้จัก)
คลิป : วิธีลดปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น (9 วิธี ลดปวดหลังด้วยตนเอง จากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น)
คลิป : วิธีดึงหลังด้วยตนเอง (4 วิธี ดึงหลังด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งเครื่อง traction ในรพ.)
เครดิตภาพ
- http://www.coreconcepts.com.sg/article/traction-therapy-no-help-in-long-term/#gsc.tab=0
- https://www.google.co.th/url?sa=i&rct=j&q=&esrc=s&source=images&cd=&cad=rja&uact=8&ved=0ahUKEwiWnMX59M_NAhVKRY8KHdM8ChcQjhwIAw&url=http%3A%2F%2Ffiles.academyofosteopathy.org%2Fconvo%2F2012Handouts%2FFossum_AAO-Convocation2012Lecture.pdf&psig=AFQjCNHDOGqZLqMxkKa-vHXPKaqE_mHlog&ust=1467355424738287
12 ตุลาคม 2559
ผู้ชม 53875 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น