ดูบทความ
ดูบทความชาร้าวลงขาหรอ อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ยังมีอีกโรคที่น้อยคนจะรู้จักที่มีอาการคล้ายกัน
ชาร้าวลงขาหรอ อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ยังมีอีกโรคที่น้อยคนจะรู้จักที่มีอาการคล้ายกัน
โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)
จากประสบการณ์ของคนไข้ที่มีอาการชาร้าวลงขามา พอผมตรวจร่างกายเสร็จสัพรู้แล้วว่าอาการชาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท แต่เกิดจากกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท เกือบร้อยละ 90 คนไข้ส่วนใหญ่ไม่รู้จักโรคนี้กันเลย เพราะในมุมมองของคนส่วนใหญ่เมื่อมีอาการชาร้าวลงขา หรือรู้สึกขาหนักๆยกขาไม่ขึ้น จะเหมารวมไปหมดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแน่ๆเลย อะไรทำนองนี้
ความแตกต่างของโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท กับ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)
- เกิดอาการปวดลึกๆที่แก้มก้น หรือก้นย้อยเท่านั้น มักจะคลำหาจุดกดเจ็บได้ยาก รู้สึกแค่ว่าปวดที่ก้นลึกๆ
- เมื่อปวดมากขึ้นอาจมีอาการปวดก้น และร้าวลงต้นขาด้านหลัง หน้าแข้ง บางรายอาจมีอาการปวดที่ข้อเท้าร่วมด้วย
- อาการปวดเพิ่มมากขึ้น เมื่อนั่งนานๆ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพขับรถ
- อาการปวดจะทุเลาลงเมื่อลุกขึ้นยืน เดิน (แต่ในบางรายที่ปวดเรื้อรังอาจจะปวดตลอดเวลาไม่ว่าจะนั่งหรือยืน)
- บางรายมีอาการชาที่ขาร่วมด้วย และจะชามากขึ้นเมื่อนั่งเป็นเวลานาน จนทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมายืนก็มี
- พบจุดกดเจ็บที่ก้น และเมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่จุดกดเจ็บนั้น จะรู้สึกปวดร้าวชาร้าวลงไปของขาข้างนั้นๆ
อ่านเพิ่มเติม (โรคปวดสะโพกร้าวลงขา อีกโรคที่มีอาการใกล้เคียงกัน)
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- มีอาการชาร้าวลงขา (อาการคล้ายกับ piriformis syndrome นะครับ)
- พบจุดกดเจ็บกระดูกสันหลังของข้อที่หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน และในรายที่เป็นมากจะมีอาการปวดแปล๊บทั่วไปทั้งแผ่นหลัง แม้เพียงแตะเล็กน้อยก็จะเจ็บมากจนต้องร้องโอดโอย (ในโรค piriformis syndrome จะปวดลึกๆที่ก้นเท่านั้น ไม่มีอาการปวดหลังใดๆ)
- ไอ จามจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น (โรค piriformis syndrome ต่อให้ไอทั้งวันก็ไม่ทำให้อาการปวดเพิ่มขึ้น)
- เมื่อนั่งจะรู้สึกสบาย อาการปวดแปล๊บและชาลดลง แต่เมื่อยืนเดินอาการปวดแปล๊บและชาจะเพิ่มมากขึ้น ในผู้ป่วยบางรายเดินเพียง 5 นาทีก็ต้องนั่งแล้วเพราะทนอาการชาไม่ไหว (ผู้ที่เป็นโรค piriformis syndrome อาการปวดจะค่อยๆเพิ่มขึ้นเมื่อนั่งนาน และรู้สึกปวดลึกๆหน่วงๆไม่ใช่อาการปวดแปล๊บเหมือนไฟช็อต)
- กล้ามเนื้อหลังตึงเกร็งจนสังเกตุเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะเดินหลังแข็งเหมือนหุ่นยนต์ก็ไม่ปาน (ในโรค piriformis syndrome ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะเดินขากระเพกเหมือนคนขาเจ็บ แต่ในรายที่ปวดไม่มากนั้นเดินเหมือนคนปกติทั่วไป)
- ในรายที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา จะพบว่ากล้ามเนื้อขาข้างที่ชานั้นมีการฝ่อลีบเมื่อเทียบกับข้างปกติ (การฝ่อลีบของกล้ามเนื้อก็เกิดขึ้นได้เช่นกันในผู้ป่วย piriformis syndrome)
- เมื่อแอ่นหลังผู้ป่วยจะปวดและชามากขึ้น แต่เมื่อก้มหลังอาการจะทะเลาลง (จะแอ่นจนหลังหัก หรือก้มหลังจนมองลอดหว่างขาก็ไม่สามาารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดมากขึ้นได้ในโรค piriformis syndrome)
อ่านเพิ่มเติม (โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท)
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หลักการสังเกตุของทั้ง 2 โรคอย่างง่ายๆแบบฉบับทำเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรให้ยุ่งยากเลยเนอะ เรารู้วิธีการแยกโรคกันแล้ว ทีนี้เรามากรู้จักเจ้า "โรคกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท" กัน
กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (piriformis syndrome)
ชื่อของโรคนี้ก็บอกเป็นนัยๆแล้วเนอะว่า เกิดจากกล้ามเนื้อมัดเล็กๆมัดหนึ่งในก้นที่ชื่อ piriformis muscle ซึ่งทำหน้าที่ช่วยกางขาและหมุนขาออก(ไม่ต้องจำก็ได้นะ^^) และเป็นกล้ามเนื้อมัดลึกสุด ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเรากด มันเกิดการตึงตัวจากการใช้งานจนไปหนีบเส้นประสาทที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อมัดนี้ซึ่งเป็นเส้นประสาทแขนงใหญ่ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อขาทั้งขา แล้วเส้นประสาทที่ว่านั้นก็คือ sciatic nerve (ถ้าเส้นประสาทนี้ขาดก็เตรียมตัวเป็นอัมพาตช่วงล่างได้เลยครับ) เมื่อกล้ามเนื้อไปหนีบเส้นประสาทแขนงใหญ่นี้เข้า จึงเกิดอาการชาขึ้นนั่นเอง ในช่วงแรกที่กล้ามเนื้อมันตึงตัวมากๆแต่ยังไม่หนีบเส้นประสาทเราจะรู้สึกปวดลึกๆปวดหน่วงๆที่ก้นจนบางครั้งเราต้องใช้นิ้วกดจิกตรงที่ปวดจนอาการทุเลาลงนั่นละครับ แต่พอนั่งไปอีกสักระยะอาการก็กลับมาเป็นใหม่
ถ้าเรามีอาการของโรค piriformis syndrome แล้วไปตรวจ x-ray ทั้งที่หลังและที่ก้น เราจะไม่พบเห็นความผิดปกติแต่อย่างใดนะครับ เพราะการ x-ray นั้นจะเห็นแต่กระดูก แต่โรคนี้มันเป็นที่กล้ามเนื้อผล x-ray จึงไม่สามารถช่วยตรวจโรคได้นั่นเอง
การรักษาด้วยตนเองอย่างง่ายๆเมื่อมีอาการ
วิธีที่บรรเทาอาการที่ทำได้ง่ายที่สุดนะครับ คือการยืดกล้ามเนื้อ piriformis muscle ในรายที่อาการยังไม่รุนแรงเมื่อยืดครบ 5 เซ็ตอาการปวดจะลดลงจนรู้สึกได้เลยครับ
เริ่มจากท่าง่ายไปยากนะครับ
1) นั่งเก้าอี้ แล้วยกขาข้างที่ปวดขึ้นตามภาพ ถ้ายังไม่รู้สึกตึงให้ก้มตัวลงไปเรื่อยๆจนรู้สึกตึง จากนั้นให้ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 เซ็ต
2) นอนหงาย แล้วยกขาข้างที่ปวดพาดมาไว้อีกข้างตามภาพ จนรู้สึกตึงที่ก้นโดยหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างแนบกับพื้น บิดแค่ขามาอย่างเดียวนะครับ ค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 เซ็ต
3) นอนหงาย ไขว้ขวาข้างที่ปวดขึ้นเหมือนภาพที่ 1 แต่เปลี่ยนเป็นท่านอน จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างจับใต้เข่าของขาข้างที่ไม่ปวดแล้วดึงขาให้ชิดอกจนรู้สึกตึงที่ก้น โดยไม่ยกศีรษะหรือหัวไหล่ขึ้นมาเพราะกล้ามเนื้อจะเกร็งและการยืดกล้ามเนื้อจะไม่มีประสิทธิภาพ และอาจทำให้เกิดอาการปวดเกร็งหน้าท้องร่วมด้วยได้ ยืดค้างไว้ 15-20 วินาที จำนวน 5 เซ็ต
เครดิตภาพ
- http://www.epainassist.com/manual-therapy/massage-therapy/piriformis-syndrome-massage-treatment
12 ตุลาคม 2559
ผู้ชม 330533 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น