shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12649391

ดูบทความปวดขาหนีบ ดูดีๆอาจเป็น 1 ใน 4 โรคนี้แล้วก็ได้

ปวดขาหนีบ ดูดีๆอาจเป็น 1 ใน 4 โรคนี้แล้วก็ได้

 

ไม่ว่าจะคุณผู้หญิงหรือคุณผู้ชาย หากได้มีอาการปวดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งย่อมสร้างความทุกข์ทรมานเป็นที่แน่นอน แล้วนอกจากอาการปวดที่เกิดขึ้นแล้ว คำถามแรกที่เราคิดขึ้นในหัวนั่นก็คือ มันเกิดจากอะไรหว่า?? ถ้าอาการปวดเกิดขึ้นที่หลัง มันก็มีอยู่ไม่กี่โรคที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้น กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น แต่ถ้าอาการปวดนั้น เกิดขึ้นที่ขาหนีบล่ะ มันเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่?

 

หากเพื่อนๆกำลังประสบกับอาการปวดขาหนีบอยู่ล่ะก็ ลองติดตามเนื้อด้านล่างนี้ให้ดีนะครับ เพราะผมจะบอกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบ โดยมีทั้งหมด 4 โรคด้วยกัน เพื่อให้เราได้รู้วิธีการแยกโรค และดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง 

 

ภาพแสดง กล้ามเนื้อ piriformis หนีบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขา

 

สาเหตุที่ 1 : 

เกิดจากโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

 

โดยโรคนี้เกิดจากกล้ามเนื้อในก้นมัดเล็กมัดนึงที่มีชื่อว่า กล้ามเนื้อ piriformis แล้วเจ้ากล้ามเนื้อมัดนี้มันเกิดตึงตัวจากการนั่งทำงานนาน หรือขับรถนาน ทำให้ไปกดทับเส้นประสาท sciatic nerve ที่ไปเลี้ยงขา จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดก้น ปวดขา ขาชา ขาอ่อนแรง และก็ทำให้ปวดขาหนีบได้ด้วยเช่นเดียวกัน 

 

ซึ่งคนเป็นโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทส่วนมาก มักมีอาการปวดหลายๆอย่างรวมกัน ทั้งปวดก้น ปวดขา ขาตึงๆ ชาขาบ้าง เดินทรงตัวไม่ดี ไม่ได้ปวดขาหนีบเพียงอย่างเดียวครับผม หากเราได้หมั่นยืดกล้ามเนื้อ piriformis บ่อยๆอย่างต่อเนื่อง อาการปวดดังกล่าวก็จะค่อยๆทุเลาลงเอง รวมทั้งปวดขาหนีบด้วยนะ หากอาการปวดขาหนีบไม่ลดลงเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆที่อาการปวดขา ปวดก้นหายไปหมดแล้วล่ะก็ ดูสาเหตุถัดไปได้เลยครับ 

 

อ้อ! ลืมบอกไปว่า เจ้าโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัยเลยนะ ตั้งแต่วัยรุ่นยันวัยชราเลยครับผม แต่ส่วนใหญ่มักพบในวัยทำงานมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานนั่งนาน

 

รายละเอียดเพิ่มเติม โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ชาร้าวลงขา อย่าพึ่งคิดว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น ยังมีอีกโรคที่น้อยคนจะรู้จัก)

คลิป : วิธีการรักษากล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (5 วิธี รักษากล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท Part 1)

 

ภาพเปรียบเทียบข้อสะโพกปกติ กับข้อสะโพกเสื่อม

 

สาเหตุที่ 2 : 

ข้อสะโพกเสื่อม 

 

โรคข้อสะโพกเสื่อมกับอาการปวดขาหนีบจัดว่าเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ เพราะตำแหน่งของขาหนีบนั้นอยู่ใกล้กับข้อสะโพกมากๆ เมื่อข้อสะโพกมีปัญหา ก็จะทำให้เกิดอาการปวดรอบๆข้อสะโพก และปวดร้าวอยู่ตรงตำแหน่งขาหนีบ อาการปวดขาหนีบของผู้ป่วยจะพูดเหมือนๆกันอยู่อย่างนึงคือ จะรู้สึกปวดลึกๆอยู่ข้างในขาหนีบ เอามือกด เอามือทุบยังไงก็ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย ต้องยกขา กางขา เตะขา แกว่งขา หรือให้ขามีการเคลื่อนไหวจึงจะรู้สึกดีขึ้นมาหน่อย 

 

นอกจากอาการปวดรอบๆข้อสะโพก และปวดบริเวณขาหนีบแล้ว ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการปวดร้าวลงก้นได้บ้าง ปวดมากหลังจากตื่นนอน หรือไม่ก็รู้สึกข้อสะโพกมันหนืดๆต้องขยับขาไปสักพักจึงจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น เป็นต้น 

 

จุดเด่นของโรคนี้คือ พบในผู้ป่วยที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น วิธีการตรวจโรคนี้ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่ไป x-ray กระดูกข้อสะโพกก็ทราบผลแล้ว แต่หากอายุยังไม่มาก หรือผล x-ray ไม่เห็นความผิดปกติใดๆของข้อสะโพกก็ข้ามไปยังสาเหตุที่ 3 ได้เลยครับผม

 

รายละเอียดเพิ่มเติม (5 สัญญาณ เช็คข้อสะโพกเสื่อม)

คลิป : วิธีการลดปวดข้อสะโพกเสื่อม (7 วิธี ดัดข้อสะโพก เพื่อรักษาข้อสะโพกเสื่อม)

คลิป : วิธีการออกกกำลังกายบริหารข้อสะโพก ในผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อม (8 ท่า บริหารข้อสะโพกให้แข็งแรง สำหรับโรคข้อสะโพกเสื่อม)

 

ภาพในวงกลมแสดง ตำแหน่งรอยต่อระหว่าง กระดูกเชิงกรานกับกระเบนเหน็บที่มีปัญหา

 

สาเหตุที่ 3 :

กระดูกเชิงกรานและกระเบนเหน็บมีปัญหา หรือที่เรียกโรคนี้ว่า SI joint dysfunction syndrome

 

โรค SI joint dysfunction syndrome ยังไม่มีชื่อภาษาไทยที่ระบุแน่ชัดนัก ผมจึงขอเรียกทับศัพท์ไปเลยก็แล้วกันนะครับ โรคนี้ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก แต่คนเป็นโรคนี้ก็จัดว่าน้องๆโรคกระดูกสันหลังเสื่อมเลยทีเดียว โดยเจ้าโรคนี้เกิดจากข้อกระดูกเชิงกรานและกระดูกกระเบนเหน็บมันเกิดการชิดกันมาก หรือมีการขบกันมากเกินไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการนั่งนาน หรือมีกิจกรรมที่ต้องมีการบิดเอี้ยวตัวเร็วๆแรงๆอยู่บ่อยๆจึงทำให้เกิดอาการปวดขึ้นได้ 

 

โดยอาการปวดของโรคนี้จะมีจุดเด่นคือ ปวดตามแนวขอบกางเกงในครับ และจะปวดมากขึ้นเมื่อต้องนั่งนาน หรือขับรถนาน บางรายก็ปวดมากจนร้าวลงขาหนีบเลยก็มี ซึ่งนี่ก็เป็นอีก 1 โรคที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบได้ 

 

แล้วโรคนี้ไม่สามารถตรวจได้ด้วยผล x-ray นะครับผม 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม โรค SI joint syndrome : (ปวดสะโพกร้าวลงขา ทั้งที่ x-ray แล้วกระดูกสันหลังฉันก็ปกติดีนี่)

คลิป : วิธีรักษาโรค SI joint syndrome (5 วิธี รักษาอาการปวดเอว กระเบนเหน็บ จากโรค SI joint syndrome)

 

ภาพแสดง อาการปวดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบ

 

สาเหตุที่ 4 :

ปวดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบธรรมดา

 

สำหรับสาเหตุที่ 4 นี้ ตรงไปตรงมามากๆเลยครับ คือ อักเสบตรงไหนก็ปวดตรงนั้นแหละ นั่นคือภาวะกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบมันเกิดการอักเสบธรรมดา มักพบได้ในคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่ง การกระโดดอยู่เป็นประจำ หรือเคยมีอุบัติเหตุมีสิ่งของมากระแทกบริเวณช่วงขาหนีบจนทำให้เกิดอาการปวดดังกล่าว 

 

วิธีเช็คก็ไม่มีอะไรยุ่งยากครับ แค่เราเอามือกดที่ขาหนีบข้างที่มีปัญหา เราจะรู้สึกปวดตึงขึ้นมาทันทีจากอาการที่เป็นอยู่ หรือเวลานั่งแบะขาให้ฝ่าเท้ามาประกบกันก็จะรู้สึกปวดตึงที่ขาหนีบมากขึ้นนั่นเองครับผม 

 

วิธีการรักษาก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก หากมีอาการปวดใหม่ๆ เช่น ไปวิ่งมาแล้วรู้สึกปวดที่ขาหนีบก็หาผ้าเย็นมาประคบบริเวณที่ปวด 10 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมงจนกว่าอาการปวดจะหายไป แล้วหมั่นยืดกล้ามเนื้อตามรูปภาพด้านล่างนี้ เป็นเวลา 20 วินาที/รอบ จำนวน 3-5 รอบ/วัน หรือจะทำมากกว่านั้นก็ได้ครับผม

 

ภาพแสดง วิธีการยืดกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบ

 

จากสาเหตุทั้ง 4 ที่ผมได้กล่าวมานั้น เป็นการบอกถึงต้นเหตุที่มาจากกล้ามเนื้อ และกระดูกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคทางระบบภายในร่างกายกายที่ทำให้เกิดอาการปวดขาหนีบได้นั้นมีมากมายไม่ต่างกัน เช่น ไส้เลื่อน มีปัญหาที่มดลูก ลำไส้อักเสบ เป็นต้น หากเราไม่แน่ใจว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุอะไร แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้เค้าได้ตรวจอย่างละเอียดอีกทีนะครับผม

 

เครดิตภาพ

- https://nydnrehab.com/blog/main-causes-of-pain-in-the-hip-thigh-and-groin/

- http://painsensation.blogspot.com/2013/07/groin-pain.html

- http://www.mayfieldclinic.com/PE-SIjointpain.htm

- http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/symptoms-causes/dxc-20198250

- http://www.physica.com.au/piriformis-syndrome/

- http://positivemed.com/2015/03/18/groin-pain-symptoms-treatments/

- http://www.newhealthadvisor.com/Piriformis-Syndrome-Exercises.html

08 มีนาคม 2560

ผู้ชม 351381 ครั้ง

    Engine by shopup.com