ดูบทความ
ดูบทความปวดตาตุ่มด้านใน ปวดหน้าแข้งด้านใน กับความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเท้าแบน
ปวดตาตุ่มด้านใน ปวดหน้าแข้งด้านใน กับความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเท้าแบน
อาการปวดตาตุ่มด้านใน (โรค tibialis posterior dysfunction)
เมื่อพูดถึงชื่อโรคเต็มๆอย่าง tibialis posterior dysfunction ผมเชื่อว่าหลายคนพอได้ยินชื่อนี้แล้วคงเกาหัวแกรกๆพร้อมกับสงสัยว่ามันคือโรคอะไรหว่า? แต่ถ้าผมบอกว่ามันคืออาการปวดหน้าแข้งด้านใน หรือปวดช่วงตาตุ่มด้านในล่ะ บางท่านก็อาจจะร้องอ๋อกันไม่มากก็น้อย เพราะอาการปวดช่วงที่กล่าวมานั้นมักพบในคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่งอยู่เป็นประจำ หรือคนอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้วมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเดินเยอะ หรือไม่ก็ชอบใส่ส้นสูงบ่อยๆนั่นเองครับ
โดยอาการปวดดังกล่าวนั้นมาจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มีชื่อว่า tibialis posterior มันอักเสบหรืออาจถึงขั้นเกิดฉีกขาดบางส่วนนั่นเองครับ ซึ่งตำแหน่งของกล้ามเนื้อมัดนี้จะอยู่ที่ขอบกระดูกหน้าแข้งด้านในเยื้องมาทางด้านหลัง แล้วเส้นเอ็นก็ลากยาวต่อจากกล้ามเนื้อไปทางตาตุ่มด้านในจนถึงปลายเท้า แล้วพอเจ้ากล้ามเนื้อ tibialis posterior อักเสบ เราจึงรู้สึกปวดอยู่ 2 จุดหลักๆ นั่นก็คือ ตรงตำแหน่งด้านในของกระดูกหน้าแข้ง หรือไม่ก็ตรงตำแหน่งของตาตุ่มด้านในนั่นเองครับผม
บริเวณที่ปวดตรงตาตุ่มด้านใน
สาเหตุของโรค tibialis posterior dysfunction
โดยทั่วๆไปแล้วโรคนี้เกิดจากการใช้งานของกล้ามเนื้ออย่างหนักต่อเนื่องกัน หรือไม่ก็เกิดจากเท้าของเราโดนกระแทกอย่างแรงเช่น การตกจากที่สูง จนทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบและเป็นที่มาของโรคนี้
- ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนักและต่อเนื่อง เช่น การวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ
- การเล่นกีฬา หรือมีกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อเท้ารับแรงกระแทกอยู่บ่อยๆ เช่น บาสเก็ตบอล วอลเล่บ์บอล เป็นต้น
- ใส่รองเท้าที่มีขนาดเล็ก และคับเกินไป
- ใส่รองเท้าส้นสูงอยู่เป็นประจำ
- อายุ 40 ปีขึ้นไป (ส่วนมากผู้หญิงจะเกิดได้ง่ายกว่า)
- มีภาวะอ้วน นํ้าหนักเกิน
- มีภาวะเท้าแบน
บริเวณที่ปวดตรงตาตุ่มด้านใน
อาการของโรค tibialis posterior dysfunction
ถ้าเป็นในนักวิ่ง หรือคนที่ออกกำลังกายที่ต้องใช้การวิ่งร่วมด้วยอยู่เป็นประจำ โดยมากมักจะมีอาการปวด บวม แดง พอเอามือจับที่กล้ามเนื้อตรงกระดูกหน้าแข้งด้านในจะรู้สึกถึงกล้ามเนื้อที่เกร็งอยู่ข้างใน พอกดลงไปจะรู้สึกปวดตึงร้าวลงไปถึงปลายเท้า บางรายก็ไม่มีอาการปวดที่กระดูกหน้าแข้งด้านใน แต่จะปวดตุ้บๆที่ตาตุ่มด้านในใกล้เท้าข้อแทน และจะปวดมากเมื่อเดินลงนํ้าหนัก ข้อเท้าด้านในอาจมีบวมร่วมด้วย
แต่สำหรับคนทั่วไปอาการปวดอาจไม่หนักเท่าคนที่ใช้งานกล้ามเนื้อหนักๆอย่างนักกีฬา แต่จะเป็นลักษณะอาการปวดตุ้บๆ ปวดร้าวที่หน้าแข้งด้านในลงไปถึงตาตุ่มด้านในธรรมดา อาการเป็นๆหายๆ ถ้าเดินเยอะก็ปวดมาก รู้สึกเมื่อยขาง่าย เมื่อยข้อเท้า รู้สึกข้อเท้าไม่ค่อยมั่นคง ยืนขาเดียวได้ไม่นาน
- ปวดหน้าแข้งด้านในร้าวลงไปถึงตาตุ่มด้านใน บางรายก็ปวดแค่ตาตุ่มด้านในจนถึงรอบๆข้อเท้า
- ข้อเท้าบวมในรายที่อักเสบในระยะแรกๆ
- รู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อขามาก เช่น วิ่ง เขย่งปลายเท้า หรือเดินเป็นเวลานาน
- รู้สึกปวดตึงมากขึ้นเมื่อใช้มือกดตามแนวกล้ามเนื้อบริเวณขอบกระดูกหน้าแข้งด้านใน
- รู้สึกข้อเท้าไม่ค่อยมั่นคงเมื่อยืนขาเดียว
- รู้สึกเมื่อล้าที่ขาและข้อเท้าได้ง่ายกวาปกติ
ตำแหน่งของกล้ามเนื้อ tibialis posterior
แล้วโรคนี้ทำให้เป็นโรคเท้าแบนได้ยังไง?
จริงๆแล้วคนที่จะเป็นโรคเท้าแบนได้นั้นมีหลายๆปัจจัยร่วมกันนะ เช่น นํ้าหนักมาก เป็นเท้าแบนมาแต่กำเนิด โครงสร้างเท้าผิดปกติจากอุบัติเหตุ และโรค tibialis posterior dysfunction ก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากเจ้ากล้ามเนื้อ tibialis posterior จะมีหน้าที่หลักๆคือ การหมุนปลายเท้าไปด้านใน (inversion) การถีบปลายเท้าลง (หรือเขย่งปลายเท้า) และที่สำคัญก็คือ การคงลักษณะโครงสร้างของเท้าให้อยู่ในแนวปกติ แล้วหากกล้ามเนื้อ tibialis posterior เกิดอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน พออักเสบเราก็เกิดอาการปวด พอปวดเราก็ไม่อยากใช้งานขาข้างนั้นมาก จากเดิมที่เคยชอบออกกำลังกายก็ไม่ออก จากเดิมที่เคยชอบเดินก็เดินน้อยลง เมื่อเราหลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อนานๆเข้า กล้ามเนื้อจึงเกิดภาวะอ่อนแรง แล้วพอกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผลที่ตามมาก็คือ กล้ามเนื้อ tibialis posterior ก็ไม่มีแรงเพียงพอที่จะไปพยุงโครงสร้างเท้าให้อยู่ในแนวปกติไว้ได้ จนโครงสร้างของเราก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแรงกดของนํ้าหนักตัวและก็กลายเป็นโรคเท้าแบนในที่สุดนั่นเอง ซึ่งพอเราเป็นเท้าแบนก็เกิดโรครองชํ้าตามมาอีก จนกลายเป็นอาการปวดไปทั่วทั้งเท้าได้นั่นเองครับผม
ภาพเปรียบเทียบระหว่างเท้าแบน กับเท้าปกติ
หลังจากที่อธิบายมาซะยืดยาวเพื่อนๆก็คงเห็นความสำคัญของกล้ามเนื้อ tibialis posterior ที่เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเท้าแบนกันแล้วนะครับ
การรักษาโรค tibialis posterior dysfunction
ส่วนวิธีการรักษานั้น ในระยะอักเสบที่เราเห็นแล้วว่ามีอาการปวด เท้าบวม ผิวหนังรอบๆข้อเท้าและหน้าแข้งแดงเรื่อๆ เอามืออังดูก็รู้สึกอุ่น เบื้องต้นให้เอานํ้าแข็งหรือผ้าเย็นมาประคบตรงบริเวณที่ปวดเป็นเวลา 10 นาทีทุกๆชั่วโมงเป็นเวลา 2-3 วัน หรือจนกว่าอาการอักเสบจะหายไป
จากนั้นให้หมั่นยืดกล้ามเนื้อน่องเพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ เพราะหากกล้ามเนื้อเราอักเสบมานานจะส่งผลให้น่องตึง เอ็นร้อยหวายตึงตามมาได้ โดยการยืดน่องนั้นแนะนำให้ดูตามคลิปนี้เลยครับ 4 วิธียืดน่อง ลดปวด ลดตึง แก้ตะคริว
ส่วนวิธีการรักษาที่สำคัญที่สุดหากเราต้องการให้อาการปวดหายไปอย่างถาวร แล้วสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้โดยไม่มีอาการปวดตามมาได้อีกนั้น ต้องใช้การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง และกล้ามเนื้อ tibialis posterior ควบคู่กันนะครับ
ซึ่งวิธีการออกกำลังกายและการรักษาสามารถดูได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับผม
- วิธีการรักษาอาการปวดตาตุ่มด้านใน และหน้าแข้งด้านใน (6 วิธี ลดปวดหน้าแข้ง และตาตุ่มด้านใน จากกล้ามเนื้อ tibialis posterior อักเสบ)
เครดิตภาพ
- https://www.pinterest.com/pin/251005379206083183/
- http://www.clinicapodium.es/lesiones-corredor-tendinitis-tibial-posterior-fisioterapia-zaragoza/
- http://eorthopod.com/posterior-tibial-tendon-problems/
- http://www.drkarlmichel.com/posterior-tibial-dysfunction-pttd.html
- http://www.triggerpointtherapist.com/blog/tibialis-posterior-pain/tibialis-posterior-trigger-point-runners-achilles-tendonitis/
23 มกราคม 2560
ผู้ชม 109547 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น