ดูบทความ
ดูบทความปวดศอกในนักเทนนิส แต่ดันพบในแม่ครัวมากกว่า
ปวดศอกในนักเทนนิส แต่ดันพบในแม่ครัวมากกว่า
ปวดข้อศอก (tennis elbow)
อาการปวดศอกของนักเทนนิส แต่แม่ครัวทั้งหลายก็เป็นกันมาก
เมื่อมีอาการปวดข้อศอกทางด้านนอก อยากให้นึกถึงโรค tennis elbow เป็นอันดับแรกเลยครับ เพราะพบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในคนที่ทำอาชีพที่ต้องทำงานกระกดข้อมือบ่อยๆ เช่น แม่ครัวทำกับข้าวสับหมูสับไก่เป็นประจำ แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวที่ต้องลวกเส้นต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง เป็นต้น
เหตุที่โรคนี้ถูกตั้งชื่อว่า tennis elbow เนื่องมาจากเป็นอาการบาดเจ็บในนักกีฬาเทนนิสที่ต้องตีลูกเทสนิสโต้ตอบกันไปมาเป็นเวลาหลายชั่วโมงจนเกิดอาการบาดเจ็บขึ้น ซึ่งท่าที่ทำให้บาดเจ็บได้ง่ายที่สุดก็คือท่า back hand ที่นักกีฬาต้องจับไม้หมุนเข้ามาด้านในลำตัว จากนั้นตีลูกออกไปทางด้านนอกลำตัว หากในขณะที่ตีลูกนั้นนักเทนนิสกระดกข้อมือร่วมด้วยจะทำให้เพิ่มแรงเครียดที่กล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกอย่างมาก จนทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาดและเกิดโรค tennis elbow (เทนนิส เอวโบ) ขึ้นนั่นเอง
แต่ทั้งนี้ในคนทั่วไปก็อย่าได้ชะล่าใจ โรคนี้ก็พบในคนทั่วไปได้เช่นกัน ทั้งแม่บ้านที่ต้องบิดผ้าทุกๆวัน แม่ครัวทำกับข้าว กวาดบ้านในท่าที่ใช้หลังมือ บรรดามือกลอง งานที่ต้องเกร็งข้อมือหรือใช้งานข้อมืออย่างหนัก คนที่พิมพ์งานหน้าคอมเป็นประจำ บรรดาช่างไม้ช่างเหล็กที่ต้องใช้แรงบิดข้อมือหรือกระดกข้อมือเป็นประจำ
ภาพเปรียบเทียบเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อปกติกับเป็นโรค
อาการของโรค tennis elbow
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตื้อๆบริเวณข้อศอกทางด้านนอก โดยจะปวดเมื่อกระดกข้อมือขึ้น กดข้อมือลง ในบางรายก็จะอาการปวดอยู่ตลอดเวลา และจะปวดมากขึ้นเมื่อกดลงไปที่ข้อศอกทางด้านนอก หรือกระดกข้อมือขึ้นโดยมีแรงต้านร่วมด้วย เช่น กำดัมเบล 1 kg แล้วกระดกข้อมือขึ้น เป็นต้น
อาการบาดเจ็บจะมีทั้งบาดเจ็บเฉียบพลัน และบาดเจ็บเรื้อรัง ซึ่งอาการบาดเจ็บเฉียบพลันนั้นจะเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเล่นกีฬาแล้วบาดเจ็บ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดข้อศอกทันทีในขณะนั้น จนไม่สามารถทำกิจกรรมต่อไปได้ และอาจมีอาการบวม แดง ร้อนด้วย ส่วนการบาดเจ็บแบบเรื้อรังนั้นอาจเกิดได้ทั้งจากมีการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันมาก่อนแต่ไม่รักษาให้หายขาดจนเกิดอาการปวดเรื้อรังตามมา หรืออาจจะเกิดจากการทำกิจกรรมที่กระดกข้อมือซํ้าๆกันจนรู้สึกปวด ล้าที่ข้อศอกแต่ไม่สนใจ ยังคงทำกิจกรรมซํ้าๆเดิมๆต่อไปจนเกิดอาการปวดลุกลามและเรื้อรังในที่สุด
สาเหตุของโรค tennis elbow
เกิดจากการทำกิจกรรมที่กระดกข้อมือซํ้าๆ เกิดจากแรงปะทะที่ข้อมือในขณะที่กำลังกระดกข้อมือจนให้เกิดแรงเครียดที่กล้ามเนื้อกลุ่มกระดกข้อมือ (extensor group) ในระยะแรกอาจจะบาดเจ็บในระดับเล็กที่ไม่รู้สึกถึงอาการ (microtear) แต่เมื่อยังคงทำกิจกรรมซํ้าๆเดิมๆต่อไปจนทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาดมาขึ้น (macrotear) และเกิดการอักเสบในที่สุด
ภาพแสดงตำแหน่งที่มีอาการปวดของ tennis elbow (ตรงจุดที่แดงๆ)
ตรวจร่างกายด้วยตนเอง
วิธีการเช็คสำหรับโรคนี้ง่ายมากครับ ให้เราเหยียดศอกตรง จากนั้นกดข้อมือลงโดยใช้มืออีกข้างช่วยกด ถ้าเป็นโรคนี้เราจะรู้สึกปวดแปล็บและอาจจะมีอาการร้าวจากข้อศอกลงมาถึงข้อมือในทันทีที่เรากดข้อมือลง เมื่อหยุดกดข้อมือลงอาการปวดจะเบาลง ซึ่งในคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคนี้จะรู้สึกเพียงแค่ตึงบริเวณข้อศอกเท่านั้นครับไม่มีอาการปวดแต่อย่างใด
อีกวิธีหนึ่งคือ ให้เราวางมือลงที่โต๊ะจากนั้นให้กระดกข้อมือขึ้นข้างที่ปวด โดยใช้มืออีกข้างกดข้างที่ปวดไว้เป็นแรงต้านไม่ให้ผู้ป่วยกระดกข้อมือได้ ซึ่งหากผู้ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการปวดแปล็บและจะหยุดกระดกข้อมือทันทีครับ (เพราะมันเจ็บไง)
สำหรับนักกายภาพอาจจะตรวจเพิ่มเติมโดยการคลำหาจุดกดเจ็บ (trigger point) ที่จุดเกาะต้นของกล้ามเนื้อกระดกข้อมืออยู่ทางด้านนอกของข้อศอก (แปลเป็นภาษาไทยแล้วจะอ่านงงๆหน่อยนึง ภาษาทางการแพทย์นี่สั้นๆเลยครับ lateral epicondyle จบเลย ฮาๆ) ถ้าเป็นเรื้อรังมานานร่วมๆเดือนจะพบปุ่มก้อนเล็กๆ เมื่อนักกายภาพใช้นิ้วกดค้างลงไปที่ก้อนนั้น ผู้ป่วยจะปวดร้าวจากข้อศอกยาวลงมาถึงข้อมือนั่นก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เค้าใช้กัน แต่โดยส่วนมากเพียงแค่กดข้อมือแล้วปวดก็แทบจะฟันเฟิร์มได้แล้วครับว่าเป็นโรค tennis elbow
การดูแลรักษา
โรคนี้ไม่อันตรายมากครับ สามารถรักษาให้หายเองได้ หากเราเริ่มรู้สึกว่ามีอาการปวดบริเวณข้อศอกหลังจากทำกิจกรรมอะไรก็ตาม พอตรวจร่างกายด้วยตนเองแล้วรู้สึกมันปวดตุ่ยๆละก็ สิ่งแรกที่ต้องทำคือหยุดพักการใช้งานของข้อมือข้างนั้นก่อนครับ จากนั้นนำผ้าเย็นหรือนํ้าแข็งมาประคบบริเวณที่ปวด 10 นาที และทำอย่างนี้ทุกๆชั่วโมง วิธีนี้แหละครับจะเป็นการป้องกันไม่ให้อาการปวดลุกลามใหญ่โตจนต้องมาพบหมอหรือนักกายภาพให้เสียตังกัน ในขณะที่เราประคบเย็นอยู่นั้น ให้เรายืดกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยใช้วิธีเดียวกับการตรวจนั่นแหละครับ คือกดข้อมือลงจนรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกค้างไว้ 20 วินาที ทำซํ้าๆกัน 5 ครั้งนะครับ แล้วหาผ้า สายรัด หรือตัวเทปผ้าสำหรับนักกีฬามารัดพันรอบบริเวณที่ปวดเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดแย่ลงและยังเป็นการพยุงกล้ามเนื้อเพื่อลดการใช้งานอีกด้วยครับ
แต่หากเรามีอาการปวดเรื้อรังมานานแล้ว หรือทำวิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผลให้เปลี่ยนจากประคบเย็นมาเป็นประคบร้อนแทนครับ โดยอาจจะใช้ผ้าชุบนํ้าอุ่นแล้วมาประคบบริเวณที่ปวด 15 นาที แต่ครับแต่ ก่อนที่จะประคบอุ่นนั้น ต้องเช็คดูก่อนนะครับว่าบริเวณที่ปวดมีอาการ แดง ร้อนมั้ย เพราะมันแสดงถึงอาการอักเสบอยู่นั่นเอง หากเราประคบร้อนในขณะที่อักเสบอยู่นั้นมันจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง บวมมากขึ้นนะครับ สามารถอ่านวิธีการใช้ผ้าเย็น-ผ้าร้อนที่ถูกวิธีได้ที่ ประคบร้อน VS ประคบเย็น เมื่อประคบเสร็จให้นวดคลึงเบาๆบริเวณที่ปวดเพื่อการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ
หากทำมาหมดแล้วทุกวิธีเป็นเดือนๆแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลยสักติ๊ดเดียว ควรเข้าพบนักกายภาพเพื่อรักษาอย่างเป็นระบบต่อไป โดยนักกายภาพจะทำการยืดกล้ามเนื้อ กดจุด trigger point ของกล้ามเนื้อที่ปวดอยู่เพื่อคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อและลดปวดได้ แล้วใช้เครื่องมือทางกายภาพเพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อด้วยเครื่อง ultrasound, laser, mirowave, การวางผ้าร้อน หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆอีกด้วยครับ และเมื่ออาการปวดทุเลาลงนักกายภาพจะแนะวิธีเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อง่ายๆเลยครับ คือ การวางแขนลงกับดต๊ะแล้วกระดกข้อมือขึ้น โดยอาจมีอุปกรณ์แรงต้านเข้ามาร่วมด้วยเช่น ดัมเบลครึ่งกิโลกรัม หรือขวดนํ้า ทำท่านี้ในช่วงเริ่มต้น 10 ครั้ง/set 3 set/วัน และหากรู้สึกว่ากำลังกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น แข็งแรงขึ้นก็ค่อยๆเพิ่มจำนวนครั้งเป้น 15 20 25 ตามลำกับต่อไปครับผม
คลิป : รักษา อาการปวดข้อศอก (4 วิธีรักษา อาการปวดข้อศอก จากโรค tennis elbow)
เครดิตภาพ
- http://www.sportscarephysio.com.au/resources/extensor-tendinopathy-tennis-elbow/
- https://www.ncmedical.com/item_750.html
- http://www.bellefleurphysio.com/tennis-elbow/
12 ตุลาคม 2559
ผู้ชม 15992 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น