ดูบทความ
ดูบทความPulled elbow กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก
Pulled elbow กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก
Pulled elbow กระดูกข้อศอกเคลื่อน
อุบัติเหตุจากการจูงมือเด็ก ที่พ่อแม่ทุกคนต้องรู้!
ถ้าในบ้านในครอบครัวของคุณมีลูกมีเด็กน้อยวัยซนอยู่ละก็ บทความนี้จะเป็นข้อคิดเตือนใจให้ระวังถึงอันตรายที่จะเกิดกับเด็กได้ด้วยนํ้ามือของพ่อแม่โดยไม่ตั้งใจนะครับ
เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุในเด็กเราคงคิดถึงการหกล้มบ้าง ตกนํ้าบ้าง ปั่นจักรยานล้มบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกอุบัติเหตุหนึ่งที่เกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่เองจากการจับ การจูง กระชากตัวเด็กโดยการจับที่แขนเด็กนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุให้กระดูกข้อศอกเคลื่อนหลุดได้หรือเรียกว่า pulled elbow นั่นเอง มักพบได้ในเด็กอายุ 2-5 ปี
ภาพแสดงกระดูกแขนท่อนล่าง
สาเหตุของโรค
เกิดจากการดึง กระชากที่แขนเด็กอย่างรุนแรง ในท่าที่เด็กเหยียดศอกและควํ่ามืออยู่ ทำให้กระดูก radius (กระดูกแขนท่อนล่างของเรามีกระดูกอยู่ 2 ชิ้น คือกระดูก radius และ ulnar) หลุดออกจากเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกไว้บริเวณข้อศอก เหตุที่กระดูกหลุดได้ง่ายเนื่องจากเส้นเอ็นในข้อต่อของเด็กเล็กยังไม่มีความมั่นคงแข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ เมื่อข้อศอกของเด็กอยู่ในท่าที่เหมาะสมร่วมกับมีแรงดึงที่แขนจึงทำให้กระดูก radius เคลื่อนได้ง่ายนั่นเองครับ
วิธีป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าว
- อย่ายกตัวเด็กโดยจับที่ข้อมือ เช่น พ่อจับแขนขวาแม่จับแขนซ้ายแล้วยกเด็กลอยขึ้น ห้ามเลยนะครับ
- อย่ากระชากแขนเด็ก
- ถ้าต้องจูงมือเด็ก แนะนำให้จับที่ท่อนแขนต้องส่วนที่มีกล้ามเนื้อจะปลอดภัยกว่าครับ
ลักษณะการดึงที่ทำให้แขนหลุด
การสังเกตุอาการของเด็ก
ด้วยความไม่รู้ประสีประสาของเด็ก หรือเด็กบางคนอาจจะยังพูดไม่รู้เรื่องจึงเป็นเรื่องยากที่เด็กจะเดินมาบอกพ่อแม่ว่า "แม่ๆหนูศอกหลุดพาหนูไปหาหมอหน่อย" คงเป็นไปได้ยากแน่นอน ผมจึงแนะวิธีสังเกตุอาการของเด็กง่ายๆดังนี้นะครับ
- เด็กจะงอศอกอยู่ตลอดเวลา
- ไม่ยอมเหยียดศอก ควํ่ามือหรือหงายมือ
- เด็กบางคนจะใช้มืออีกข้างจับข้อศอกตลอด
- พ่อแม่จะต้องสังเกตุนิดนึง เพราะโรคนี้ไม่ได้สร้างความเจ็บปวดต่อเด็กมาก เด็กจึงไม่ร้องไห้โยเยมากนัก
- บางรายอาจมีอาการบวมแดงที่ข้อศอก
- เด็กยังคงวิ่งเล่นได้ตามปกติ เพียงแต่จะไม่ยอมใช้แขนข้างที่เป็นปัญหา
แนวทางการรักษา
เมื่อพ่อแม่สงสัยแล้วว่าลูกฉันข้อศอกหลุดแน่ๆ ห้ามดัดดึงดันกระดูกของเด็กเองโดยเด็ดขาดนะครับ เพราะข้อต่อของเด็กนั้นบอบบางกว่าที่คิดอาจเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์หรือหมอเฉพาะทางกระดูก แล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนผ่าตัดจัดกระดูกเป็นแผลเหวอะหวะอะไรอย่างงั้น แพทย์จะใช้วิธีการจัดกระดูกแป็ปเดียวก็เสร็จแล้วครับไม่ต้องใช้ยาชาเลยด้วยซํ้านะครับ
เครดิตภาพ
- http://www.rch.org.au/kidsinfo/fact_sheets/Pulled_Elbow/
- https://ittcs.wordpress.com/2010/10/15/notes-on-anatomy-and-physiology-the-elbow-forearm-complex/
- https://pedclerk.bsd.uchicago.edu/page/nursemaids-elbow
30 สิงหาคม 2559
ผู้ชม 20402 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น