shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12650800

ดูบทความข้อสะโพกหลุด โรคที่จะฟื้นฟูไม่ดี จะพาลให้เดินไม่ได้อีกตลอดชีวิต

ข้อสะโพกหลุด โรคที่จะฟื้นฟูไม่ดี จะพาลให้เดินไม่ได้อีกตลอดชีวิต

 

ข้อสะโพกหลุด (dislocation of hip joint)


โดยปกติแล้ว เมื่อนึกถึงข้อหลุดเราจะนึกถึงแต่ข้อไหล่หลุด ไหล่เคลื่อนกันใช่มั้นเอ่ย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเห็นตามในหนังในภาพยนตร์แนวต่อสู้ที่ผู้ร้ายโดนพระเอกหักข้อไหล่ดังกร๊อบแกร๊บ หรือพบได้ตอนเกิดอุบัติเหตุมีอะไรมากระแทกแรงๆที่หัวไหล่จนไหล่หลุด แต่ถ้าพูดถึงข้อสะโพกหลุดเราคงจะนึกภาพกันไม่ออกใช่มั้ยครับว่า เวลาข้อสะโพกมันหลุดหน้าตามันจะเป็นยังไง แล้วทำไมถึงข้อสะโพกหลุดได้ เรามาหาคำตอบด้วยกันเลยครับ แต่กระซิบนิดนึงว่า ข้อสะโพกหลุดมันมักมาร่วมกับเบ้าข้อสะโพกแตกร่วมด้วยเสมอ ถ้าหลุดแล้วโดนผ่าสถานเดียวครับ บรื๋ออออ

 

ภาพแสดงกระดูกข้อสะโพก


ภาวะข้อสะโพกหลุดก็คือ หัวกระดูกของกระดูกต้นขา (head of femur) หลุดออกมาจากเบ้าสะโพก (acetabulum) ซึ่งลักษณะการหลุดที่พบได้ทั่วไปนั้นมีอยู่ 2 แบบครับคือ แบบที่ 1 ข้อสะโพกหลุดไปด้านหน้า (anterior dislocation) และแบบที่ 2 ข้อสะโพกหลุดไปด้านหลัง (posterior dislocation)

 

ลักษณะของผู้ป่วยที่ข้อสะโพกหลุดทางด้านหน้า


ข้อสะโพกหลุดไปทางด้านหน้า (anterior dislocation)


นั้นพบได้น้อยครับ เพียง 10-15% เท่านั้น มักเกิดจากการตกจากที่สูงในท่านั่งชันเข่า หรือเกิดจากการนั่งชันเข่าแล้วมีวัตถุมากระแทกที่ก้นหรือกระดูกต้นขาในท่ากางขาทางด้านหน้า ทำให้หัวกระดูกไปงัดกับเบ้าสะโพกจนแตกแล้วหัวกระดูกถูกดันออกมาทางด้านหน้า ผลก็คือ เบ้าสะโพกทางด้านหน้าแตก เส้นเอ็นบางส่วนฉีกขาด ต้องเข้ารับการผ่าตัดสถานเดียวครับ ไม่สามารถดัดข้อให้กลับไปอยู่ในเบ้าแล้วใช้การได้ตามปกติเหมือนที่ทำกับข้อไหล่ แต่อย่างที่บอกครับลักษณะการหลุดแบบนี้พบได้น้อย ที่แน่ๆคือ ถ้าคนที่โดดตึกจะฆ่าตัวตาย โดดลงมาในท่าเอาขาลงพื้นละก็ อย่างเบาก็เป็นแค่ข้อสะโพกหลุดทางด้านหน้านะ แต่ถ้าโชคร้ายหน้อยก็กระดูกข้อสะโพกแตก ซึ่งส่วนมากก็เป็นเช่นนั้นครับ

 

ลักษณะของผู้ป่วยที่ข้อสะโพกหลุดทางด้านหลัง


ข้อสะโพกหลุดไปทางด้านหลัง (posterior dislocation)


ลักษณะการหลุดแบบนี้พบได้เป็นส่วนมากเลยละครับ โดยเฉพาะมักเกิดคู่กับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึงเกิดจากผู้ป่วยนั่งขับรถแล้วรถชนกัน จนทำให้เข่าไปกระแทกกับ dashboard ของรถยนต์ ผลก็คือ หัวกระดูกข้อสะโพกถูกดันไปด้านหลังตามแรงกระแทกจนไปชนกับเบ้ากระดูกต้นขาทำให้เบ้ากระดูกทางด้านหลังแตก และต่อให้ผู้ป่วยผ่าตัดข้อสะโพกจนหายดีแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการนั่งในท่าที่เสี่ยงต่อข้อสะโพกหลุดนั่นคือ การนั่งในท่างอต้นขา 90 องศา (flex hip) หุบขาเข้า (hip adduction) และหมุนต้นขาเข้าด้านใน (hip internal rotate) ซึ่งเป็นลักษณะท่านั่งดับเบิ้ลยูที่เรามักเห็นเด็กๆชอบนั่งท่านี้กันนั่นแหละครับ ซึ่งท่านี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้ข้อสะโพกหลุดมาทางด้านหลังซํ้าสอง

 

ภาพเปรียบเทียบข้อสะโพกปกติและข้อสะโพกหลุดทางด้านหลัง(ในวงกลม)


วิธีการสังเกตุว่าผู้ป่วยข้อสะโพกหลุด


ในกรณีที่ข้อสะโพกหลุดไปทางด้านหลัง ผู้ป่วยจะนั่งในท่า "นั่งW" อยู่ตลอดเวลา หรือในกรณีที่ล้มตัวลงนอน ผู้ป่วยก็จะงอต้นขาและหุบขาเข้าอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเหยียดขาลงได้เพราะหัวกระดูกงัดอยู่กับเบ้า หากปฐมพยาบาลไม่ถูกวิธีหรือฝืนกดขาลงอาจทำให้เบ้ากระดูกแตกเพิ่มเติมได้ และหากให้ผู้ป่วยนอนชันเข่าเทียบกันกับข้างปกติจะพบว่าความยาวของต้นขาข้างที่หลุดดูสั้นกว่าข้างปกติอย่างเห็นได้ชัดเลยละครับ


แล้วในกรณีที่ข้อสะโพกหลุดไปทางด้านหน้า ผู้ป่วยจะอยู่ในท่างอต้นขา กางขาออกอยู่ตลอดเวลาไม่สามารถเหยียดขาลงได้สุดเช่นเดียวกัน

 

ลักษณะการตรวจข้อสะโพกหลุดเบื้องต้น ขาข้างที่สั้นกว่าแสดงถึงข้อสะโพกหลุด


วิธีการรักษา ข้อสะโพกหลุด


เมื่อเราพบเห็นผู้ป่วยตกจากที่สูง หรือเกิดอุบัติเหตุรถชนแล้วสังเกตุเห็นว่าผู้ป่วยมีข้อสะโพกหลุดแน่ๆ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ หาของแข็งมาดามขาและห้ามดัด ดึงเพื่อให้ข้อสะโพกกลับเข้าที่โดยเด็ดขาดนะครับ เพราะอาจทำให้ข้อสะโพกแตกหักได้ และที่สำคัญส่วนของข้อสะโพกนั้นเป็นทางผ่านของเส้นประสาท sciatic nerve ที่ไปเลี้ยงขา หากเส้นประสาทเส้นนี้ได้รับความเสียหายอาจทำให้ผู้ป่วยอัมพาตขาข้างนั้นไปเลยก็ได้ จากนั้นนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด


หลังการผ่าตัด ผมต้องบอกสิ่งที่ห้ามทำก่อนเป็นอันดับแรก คือ ห้ามนั่งงอต้นขาเกิน 90 องศาเพราะท่านี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้ข้อสะโพกหลุดซํ้าได้ง่าย ถ้าจะนั่งต้องนั่งในท่ากึ่งนอนหงายอ่ะครับ เอนตัวไปด้านหลังเข้าไว้


จากนั้น ให้นอนยกขาสูงโดยนำหมอนมารองใต้ขาข้างที่ผ่า (แต่อย่าให้สูงมาก) เพื่อลดอาการบวมที่ขา หากผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงบ้างแล้ว ให้ฝึกเกร็งกล้ามเนื้อก้นและขาข้างที่ผ่าค้างไว้ 5 วินาทีแล้วปล่อย ทำซํ้าได้เท่าที่ต้องการเพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบ เพราะหากเกิดภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบผู้ป่วยอาจจะกลับมาเดินได้ช้าลง นอกจากนี้ก็ฝึกกระดกปลายเท้าขึ้น-ลงสลับกันเพื่อลดบวมที่ขา และเป็นการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อให้พร้อมกลับมาฝึกเดินได้อีกครั้งครับ

 

ลักษณะการนั่งท่า W ซึ่งเป็นท่านั่งที่เสี่ยงทำให้ข้อสะโพกหลุด


ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถฝึกยืน ฝึกเดินได้บ้างแล้วซึ่งหน้าที่ตรงนั้นเป็นของนักกายภาพที่จะพาผู้ป่วยฝึกเดินเอง ผมไม่จำเป็นต้องบอกรายละเอียดตรงนี้เท่าไหร่เนอะ (ก็มันไม่มีอะไรมาก แค่เดิน- -) แต่ที่ผมจะเน้นคือการฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อขาด้วยตนเองครับ ซึ่งการฝึกก็ง่ายครับ มีดังนี้


1) ฝึกงอเข่าเหยียดเข่า

อันนี้เป็นท่าฝึกเบื้องต้นครับ ให้นอนหงายจากนั้นงอเข่างอสะโพกข้างที่ผ่าเข้าหาตัว โดยที่ไม่ยกส้นเท้านะครับ ใช้การลากส้นเท้าเข้ามาแทน งอสะโพกประมาณ 45 องศา จากนั้นเหยียดขาออกช้าๆจนสุดนับเป็น 1 ครั้ง ทำซํ้า 12 ครั้งต่อ 1 set ซึ่งจะทำให้กี่ set ก็ได้เท่าที่เราไหว


2) ฝึกยกก้น (bridging exercise)

ให้ผู้ป่วยนอนหงายชันเข่าทั้ง 2 ข้าง (ยํ้า ห้ามงอต้นขาเกิน 90 องศา) มือกอดอก ศีรษะวางราบไปกับพื้น นำหมอนรองศีระษะออก จากนั้น ยกก้นขึ้นแล้วลงนับเป็น 1 ครั้ง ทำซํ้า 12 ครั้งต่อ 1 set นะครับ ท่านี้จะช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อช่วงก้น ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังกล้ามเนื้อแข็งแรงพอที่จะยืน เดินได้นานมากขึ้น


3) ฝึกยกขาตรงๆ

ท่านี้ให้ผู้ป่วยนอนหงายขาตึงเข่าตรง จากนั้นยกขาขึ้นตรงๆให้สูงเท่าที่ทำได้ (แต่ห้ามเกิน 90 องศา) ขณะยกขาห้ามงอเข่านะครับ แล้วลงนับเป็น 1 ครั้ง ทำซํ้า 10 ครั้งต่อ 1 set ท่านี้จะช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่งอข้อสะโพกแข็งแรง ช่วยให้ผู้ป่วยก้าวเดินได้ดียิ่งขึ้น


4) ฝึกนอนตะแคงกางขา

ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง โดยให้ขาข้างที่ผ่าอยู่ด้านบนเหยียดขาตึงเข่าตรง จากนั้นให้กางขาขึ้นแล้วลง นับเป็น 1 ครั้ง ทำซํ้า 10 ครั้งต่อ 1 set ท่านี้จะช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อขาทางด้านข้างของข้อสะโพก (gluteus medius & minimus) ซึ่งเป็นจุดที่กล้ามเนื้อส่วนี้ได้รับความเสียหายมากที่สุดขณะผ่าตัดข้อสะโพกและเป็นกล้ามเนื้อที่มีส่วนสำคัญต่อการยืนเดินด้วย เพราะหากกล้ามเนื้อมัดนี้ไม่แข็งแรงผู้ป่วยจะเดินได้ไม่มั่นคง เสี่ยงต่อการล้ม หรือต่อให้เดินได้ก็จะเดินในท่าหุบขาเข้าอยู่ตลอดจนดูเสียบุคลิกภาพ ขณะเดียวกันท่านี้ก็เป็นท่าที่ผู้ป่วยไม่ยอมทำมากที่สุดเช่นกันครับ เพราะมันเจ็บจากแผลผ่าตัดไง หากผู้ป่วยยังยกขาในท่าเหยียดไม่ไหว ก็ให้งอเข่าแล้วกางขาแทนก็ได้เช่นกันครับ

อ้อ! เกือบลืม ควรนำหมอนมาวางกั้นระหว่างขาทั้ง 2 ข้างด้วยนะครับ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยหุบขามากเกินไปจนข้อสะโพกหลุดซํ้าได้

 

เครดิตภาพ

- http://www.dailybandha.com/2013_11_01_archive.html

- http://midwestbonejoint.com/child-orthopedics/septic-arthritis-of-the-hip-in-children/

- http://bonesmart.org/hip/about-the-hip-joint/

- http://www.slideshare.net/RVHEM/hip-pain-47300625

- http://eorthopod.com/developmental-dysplasia-of-the-hip-in-children/

- http://boneandspine.com/hip-injuries-xrays-and-photographs/

- https://en.wikipedia.org/wiki/Dislocation_of_hip

- www.doobody.com

- http://www.mindbrainchildactivity.com/articles/42238103/

- http://www.leememorial.org/HealthInformation/HIE%20Multimedia/1/000014.htm

- http://www.boneclinic.com.sg/orthopaedic-conditions/child-orthopaedics/developmental-dysplasia-of-the-hip-ddh/

14 มิถุนายน 2559

ผู้ชม 17659 ครั้ง

    Engine by shopup.com