ดูบทความ
ดูบทความโรค TOS ปวดไหล่ก็ไม่ใช่ ปวดคอก็ไม่เชิง
โรค TOS ปวดไหล่ก็ไม่ใช่ ปวดคอก็ไม่เชิง
Thoracic Outlet Syndrome (TOS)
กลุ่มอาการเส้นเลือดและเส้นประสาทถูกกดรัดที่ทรวงอก
กลุ่มโรค TOS จัดว่าเป็นโรคที่คนทั่วไปจะนึกถึงเป็นอันดับท้ายๆเลยก็ว่าได้ครับ เพราะลักษณะอาการของโรค TOS นี้มีความใกล้เคียงกับโรคคอเสื่อม และโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังมากพอสมควร ผมชอบเรียกโรคนี้ในสมัยที่เรียนอยู่ว่า "โรคอีแอบ" คือ ตรวจวินัจฉัยมาแทบทุกโรคแล้วก็ไม่พบอาการที่เด่นชัดว่าเป็นกระดูกคอเสื่อมหรือเปล่า หรือมีเส้นประสาทถูกกดทับที่คอ หรือเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังกันแน่ ยิ่งตรวจยิ่งงงตัวเอง แต่พอใช้เทคนิคการตรวจพิเศษของโรคนี้ปรากฎว่า ใช่โรค TOS ซะงั้น ทำเอาซะผมเกือบโดนอาจารย์เขกกะบาลแตกเชียวแน่ะ ฮาๆ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค TOS
สาเหตุหลักๆเกิดจากกล้ามเนื้อภายในช่องอก กระดูกไหปลาร้า หรือกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 ไปกดเบียดเส้นประสาท (brachial plexus) และเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อแขนครับ ซึ่งตำแหน่งที่ถูกกดทับสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ตำแหน่งหลัก ดังนี้
ตำแหน่งการกดทับของ scalenus anticus syndrome
ตำแหน่งที่ 1 : scalenus anticus syndrome
การกดทับที่ตำแหน่งนี้เกิดจากกล้ามเนื้อที่คอ middle scalene และ anterior scalene บีบรัดเส้นประสาทที่อยู่ตรงกลางระหว่างกล้ามเนื้อทั้ง 2 มัดนี้ จากภาวะที่กล้ามเนื้อมีความตึงตัวสูง อาจจะด้วยการทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อคอมากใดๆตาม เช่น ช่างทาสี ช่างเครื่องที่ต้องแหงนหน้าเป็นประจำ นอกจากนี้อาจจะมีการกดทับของเส้นเลือดแดงร่วมด้วย (subclavian artery)
adson maneuver test คือท่าตรวจโรค scalenus anticus syndrome
วิธีตรวจว่ามีการกดทับที่ตำแหน่งนี้คือ ให้ผู้ป่วยนั่งแขนวางข้างลำตัว หันศีรษะไปทางด้านเดียวกับข้างที่ปวดแล้วเงยหน้าขึ้นค้างไว้ ซึ่งท่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อทั้ง 2 มัดมีความตึงตัวมากขึ้นจนไปบีบรัดเส้นประสาท ทำให้รู้สึกชาร้าวลงแขน นอกจากนี้หากมีการกดทับของเส้นเลือดแดงร่วมด้วยจะพบว่าชีพจรของข้อมือข้างที่มีปัญหาค่อยๆเบาลงครับ
ตำแหน่งการกดทับของ costoclavicular syndrome
ตำแหน่งที่ 2 : costoclavicular syndrome
การกดทับที่ตำแหน่งนี้จะเกิดขึ้นตํ่าลงมากว่าที่แรกครับ โดยทั้งเส้นประสาท เส้นเลือดดำ และเส้นเลือดแดงจะรอดผ่านช่องที่อยู่ระหว่างกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 ซึ่งการกดทับนั้นเกิดจากการที่กระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 นั้นยกตัวสูงขึ้น หรืออาจเกิดจากกรดูกซี่โครงมีการผิดรูปอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ช่องที่เส้นประสาทและเส้นเลือดทั้งหลายแคบลงและถูกกดทับจากกระดูกซี่โครงและกระดูกไหปลาร้าในที่สุด อาการแสดงจะคล้ายกับตำแหน่งแรกครับคือชาร้าวลงแขน และชีพจรที่ข้อมือเบาลง แต่หากมีการกดทับของเส้นเลือดดำร่วมด้วยจะทำให้ผู้ป่วยแขนบวม ข้อนิ้วติดแข็ง มีอาการเขียว และแขนล้าได้ง่าย
ตำแหน่งการกดทับของ hyperabduction syndrome
ตำแหน่งที่ 3 : hyperabduction syndrome
การกดทับที่ตำแหน่งนี้เกิดจากกล้ามเนื้อ pectoralis minor (เป็นกล้ามเนื้อมัดลึกที่อยู่ภายในทรวงอกใกล้กับหัวไหล่) หดสั้นลงจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้เส้นประสาทและเส้นเลือดดำและแดงที่ลอดผ่านใต้กล้ามเนื้อมัดนี้ถูกกดทับทันที ซึ่งในคนทั่วไปก็อาจเกิดขึ้นได้เช่น คนที่ชอบนอนหงายแล้วเอาแขนหนุนศีรษะในตอนกลางคืนจนรู้สึกชาแขน แต่เมื่อเอาแขนลงอาการชาก็หายไปในทันที หรือในผู้ที่มีภาวะไหล่ห่อมานานจนทำให้กล้ามเนื้อ pectoralis minor ตึงตัวก็มีอาการได้เช่นกัน อาการหลักๆก็คือ มีอาการชา ปวดเมื่อกางแขนสูงๆค้างๆไว้ รู้สึกตังลึกๆภายในอก จับชีพจรของข้อมือเบามากเมื่อเทียบกับข้างปกติ
allen test คือท่าตรวจโรค hyperabduction syndrome
วิธีการตรวจคือ ให้ผู้ป่วยกางแขนขึ้นแล้วหมุนต้นแขนออก (เหมือนกับการชูมือขึ้นในท่ายอมแพ้นั่นแหละครับ) เมื่อยกค้างไว้สักระยะจะทำให้กล้ามเนื้อบีบรักเส้นประสาทและเส้นเลือดทำให้เกิดอาการชา ปวดขึ้น คลำพบชีพจรได้เบามาก หรือไม่พบเลยนั่นเองครับ
อาการของผู้ป่วย TOS
- มีอาการปวดที่ก้านคอ
- ปวดแบบเป็นๆหายๆ และจะปวดมากขึ้นในช่วงเย็นหลังจากทำงานมาทั้งวัน
- เมื่อเงยหน้า หรือเอียงศีรษะไปทางด้านใดด้านหนึ่งค้างไว้ผู้ป่วยจะอาการปวดที่ก้านคอมากขึ้นและอาจปวดร้าวลงแขนร่วมด้วย
- บางครั้งก็มีอาการปวดร้าวไปยังขากรรไกร, หู, ทรวงอก หัวไหล่ และร้าวลงมาถึงแขน
- มีอาการชาที่แขนตามตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
- บางรายก็มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
- ในรายที่มีภาวะไหล่ห่อจะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
ซึ่งจากอาการที่กล่าวมานั้นจะพบว่ามีความคล้ายคลึงกับโรคกระดูกคอเสื่อมและโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังอยู่มากพิสมควร ดังนั้น หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองโรคอะไรกันแน่ควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียดจากแพทย์หรือนักกายภาพจะเหมาะสมที่สุดนะครับ
การดูแลรักษา
ในกรณีที่มีการกดทับจากกล้ามเนื้อ จะใช้วิธีการยืดกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อครับ เพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อไม่ให้ไปกดทบเส้นประสาทอีก ส่วนในรายที่มีภาวะไหล่ห่อ แนะนำให้ปรับบุคลิกภาพ เช่น ขณะนั่งทำงานหน้าโต๊ะก็ควรหากระจกมาตั้งไว้ให้อยู่ในลานสายตา เพื่อคอยกระตุ้นเตือนให้ไหล่ตรงอยู่เสมอ นอกจากนี้การออกกำลังกายกล้ามเนื้อสะบักก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีเช่นกัน เพื่อให้กล้ามเนื้อทั้งด้านหน้าและด้านหลังของทรวงอกทำงานสมดุลกัน
แต่รายที่แพทย์ตรวจพบว่าการกดทับนั้นเกิดจากกระดูกซี่โครงที่ 1 ไปกดทับเส้นประสาทที่รอดผ่านมา แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดกระดูกซี่โครงที่ 1 บางส่วนออก เพื่อเปิดช่องให้เส้นประสาทและเส้นเลือดผ่านได้สะดวก ลดการกดทับนั่นเองครับ
คลิป VDO
- ส่วนวิธีการตรวจโรค TOS ทั้ง 3 ตำแหน่งด้วยตนเองง่ายๆ คลิ๊กที่ลิงค์นี้เลยครับผม (ปวดคอก็ไม่ใช่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง กับวิธีการตรวจโรค TOS)
- รักษาโรค TOS ส่วน scalenus anticus (รักษาโรค TOS ส่วน scalenus anticus กับสาเหตุปวดคอก็ไม่ใช่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง Part 1)
- รักษาโรค TOS ส่วน Hyperabduction syndrome (รักษาโรค TOS ส่วน Hyperabduction syndrome กับอาการปวดคอก็ไม่ใช่ ปวดไหล่ก็ไม่เชิง part 2)
เครดิตภาพ
- http://elbowandbelow.weebly.com/thoracic-outlet-syndrome.html
- https://quizlet.com/43549821/8-considerations-for-tx-of-cv-disease-flash-cards/
- http://abbottcenter.com/bostonpaintherapy/?p=3310
- http://www.brighamandwomens.org/Departments_and_Services/surgery/thoracic-surgery/chest-wall-diaphragm-conditions/thoracic-outlet-syndrome.aspx?sub=3
- http://www.annalsofian.org/article.asp?issn=0972-2327;year=2012;volume=15;issue=4;spage=323;epage=325;aulast=Khan
- http://medicalmarijuana.com/medical-marijuana-treatments/Thoracic-Outlet-Syndrome
- https://theboard.byu.edu/questions/66808/
- http://morphopedics.wikidot.com/thoracic-outlet-syndrome
04 มกราคม 2560
ผู้ชม 130371 ครั้ง
แสดงความคิดเห็น