shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12140253

ดูบทความตีบ แตก ตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคที่ใครๆก็เป็นได้

ตีบ แตก ตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคที่ใครๆก็เป็นได้

หมวดหมู่: นอกเรื่อง


โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 


เชื่อเหลือเกินว่าแทบไม่มีใครไม่รู้จักกับโรคหลอดเลือดสมอง ที่คุ้นหูคุ้นตามากที่สุดก็คงไม่พ้นโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน แต่จริงๆแล้วยังมีหลอดเลือดสมองตีบ และหลอดเลือดสมองแตกด้วย (แต่พบน้อยกว่า) เมื่อเป็นโรคนี้แล้วทุกๆคนคงคิดว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เดินไม่ได้อีกตลอดชีวิตแน่ๆ แต่จริงๆแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองสามารถรักษาให้หายได้ใกล้เคียงปกติ สามารถกลับมาเดิน วิ่ง ช่วยเหลือตัวเองได้เลยนะครับ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ตำแหน่งของสมองที่เส้นเลือดถูกกดทับ ความรวดเร็วในการนำส่งโรงพยาบาล ความรวดเร็วในการทำกายภาพหลังจากอาการเริ่มดีขึ้น และกำลังใจของตัวผู้ป่วยเองครับ หากปัจจัยดังกล่าวดีหมด การฟื้นตัวของผู้ป่วยก็ทำได้รวดเร็วมากขึ้นเช่นกันครับ ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดสมองหรือที่เรียกกันว่า stroke กันดีกว่า

 

ภาพซ้ายหลอดเลือดสมองแตก ภาพขวาหลอดเลือดสมองตัน


โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

1) หลอดเลือดสมองตีบหรือตัน (ischemic stroke) :


กลุ่มนี้พบได้บ่อยมาก แต่อันตรายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดสมองเอง หรือเกิดจากลิ่มเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายเข้ามาอุดตันที่หลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ก็ยังเกิดจากไขมันไปสะสมที่ผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดตีบแคบและอุดตันในที่สุด ในกรณีที่หลอดเลือดสมองตีบแคบ ผู้ป่วยจะมีอาการแบบเป็นๆหายๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการแขนอ่อนแรง ขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว หยิบจับสิงของได้ไม่ถนัด ซึ่งหากเป็นระยะนี้แล้วรีบนำสง่โรงพยาบาลโอกาสที่จะหายมีสูงมาก แต่หากปล่อยไว้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการหรือคิดว่าเดี๋ยวมันก็หายเองละก็ จากที่หลอดเลือดตีบจะกลายเป็นหลอดเลือดตันทันทีครับ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงที่รุนแรงมากขึ้น อาจถึงขึ้นยืนทรงตัวไม่ได้ และล้มในที่สุด การฟื้นฟูรักษาก็จะใช้เวลามากขึ้นไปอีกครับ


2) หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) :


กลุ่มนี้พบน้อย แต่อันตรายมากๆ เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ไม่มีอาการแสดงล่วงหน้า เนื้อสมองเสียหายมากกว่า หากรักษาไม่ทันจะทำให้เกิดเลือดคั่งในสมองและมีโอกาสถึงขั้นเสียชีวิตสูงมาก ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดเปราะบางจากโรคความดันโลหิตสูง หรือเกิดจากลิ่มเลือดไปอุดตันทำให้หลอดเลือดโป่งพองจนปริแตก

 

ภาพ CT scan ของผู้ที่เป็น stroke โดยจุดดำใหญ่ด้านซ้าย นั่นคือเลือดออกในสมอง


อาการ ของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)


- ปากเบี้ยว 

- พูดไม่ชัด

- แขน ขา อ่อนแรงครึ่งซีก

- เดินเซ ทรงตัวได้ไม่ดี

- ชาที่ใบหน้าครึ่งซีก หรือที่ร่างกายครึ่งซีก

- มีอาการปวดศีาษะรุนแรง (มักจะเกิดกับโรคหลอกเลือดสมองแตก)

- อาเจียนพุ่ง (เกิดกับโรคหลอดเลือดสมองแตก)

- หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด ของหลุดมือบ่อย

ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นแบบชั่วคราว หรือเกิดขึ้นอย่างถาวรก็ได้ หากเกิดขึ้นแบบชั่วคราวผู้ป่วยจะมีอาการดังกล่าวแต่ไม่นานนักก็หายไปได้เอง แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะเกิดขึ้นถี่และเกิดอาการขึ้นอย่างถาวรในที่สุดครับ ฉะนั้น หากรู้ตัวว่ามีอาการเกิดขึ้นแล้วควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยทันที ไม่ควรไปซื้อยามาทานเองนะครับ เพราะโรคหลอดเลือดสมองอันตรายมาก และใช้เวลาการฟื้นฟูนานอย่างเร็วสุดก็ 3 เดือนแน่ะ 


ปัจจัยเสี่ยง ของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)


ความเสี่ยงของผู้ที่จะเป็นโรคนี้มีเยอะมากครับ และพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่คนหนุ่มสาวก็อย่าได้ประมาทนะครับ เพราะผมเคยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอายุ 30 ต้นๆมาแล้วก็มี ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตแบบผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นชอบทานของมัน นอนดึก มีความเครียดสูง ปัจจัยเหล่านี้ก็มีส่วนทำให้เราเป็นโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่หนุ่มสาวเลยทีเดียว ทีนี้เรามารู้จักกับปัจจัยทั่วไปที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองกันครับ


- อายุมากขึ้น : หากผู้ป่วยอายุมากจะทำให้หลอดเลือดบอบบางลง ปริแตกได้ง่ายขึ้นจากการใช้งานมานาน รวมทั้งมีหินปูนหรือลิ่มเลือดมาเกาะด้วยครับ

- ความดันโลหิตสูง : ผู้ป่วยแทบทุกคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักมีโรคประจำตัวนี้กันแทบจะทุกคนเลยครับ จัดว่าเป็นโรคที่มาคู่กันเลย หากผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงก็เหมือนก้าวเท้าเข้าไปทักทายโรคหลอดเลือดสมองแล้วหนึ่งข้าง

- เป็นเบาหวาน : โรคเบาหวานจะทำให้หลอดเลือดแข็งตัวได้ง่าย ความยืดหยุ่นลดลง ผลก็คือ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่ายมากขึ้น

- ทำงานที่ต้องนั่งนาน หรือไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย : เพราะการนั่งอยู่กับที่นานๆไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน หรือต้องโดยสารไปที่ไกลๆใช้เวลานานๆอย่างนั่งเครื่องบิน จะทำให้เลือดไปคั่งอยู่ที่ปลายเท้าของเราได้ เป็นเหตุให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของโรค deep vein thrombosis หากลิ่มเลือดที่อยู่ปลายเท้าของเราเกิดหลุดออกไปตามกระแสเลือดเข้าสู่สมองจนเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้เช่นกันนะครับ แม้จะพบได้ไม่มาก แต่ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่เราไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

รายละเอียดโรค deep vein thrombosis (นั่งเครื่องบิน เท้าบวม แล้วก็พิการ กับโรคที่ไม่มีใครรู้จัก)

- ไขมันในเลือดสูง : ก่อนอื่นต้องแยกกันก่อนนะครับระหว่างไขมันใต้ผิวหนังมาก (อ้วน) กับไขมันในเลือดสูงสูง ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันเสมอไป เพราะผู้ป่วยบางรายตัวผอมแห๊งแห้ง แต่พอไปตรวจเลือดปรากฎมีไขมันในเลือดสูงเกินเกณฑ์ซะงั้น ซุึ่งการที่มีไขมันในเลือดสูงจะทำให้ไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือดจนกีดขวางการลำเลียงเลือดได้

- การสูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่จะทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติ ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดน้อยลง จึงมีความเสี่ยงทำให้หลอดเลือดปริแตกได้

 

F A S T สโลแกน 4 ตัวนี้จำให้ขึ้นใจเลยนะครับ


การรักษา ของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)


หากผู้ป่วยมีอาการดังที่ผมได้กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อยก็ตาม ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลให้ทันภายใน 3 ชั่วโมง เพราะผลการรักษาและการให้ยาจะมีประสิทธิภาพก็อยู่ในช่วงนี้ หากนานกว่านี้ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง ตอบสนองต่อการรักษาน้อยลง หรืออาจถึงขึ้นเสียชีวิต ซึ่งกระบวนการนำผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่งโรงพยาบาลเค้าเรียกกันว่า stroke fast track นั่นเองครับ


การรักษาจะแบ่งเป็น 2 ประเภท


- รักษาหลอดเลือดสมองอุดตัน : การรักษาจะเป็นการให้ยาละลายลิ่มเลือดเป็นหลักครับ แต่อาจจะให้ยาอื่นๆร่วมด้วยก็ได้ครับ จากนั้นก็ดูอาการผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยมักคิดว่าเป็นโรคนี้แล้วจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดกะโหลก จริงๆแล้วแค่ให้ยาก็เพียงพอแล้วครับ แต่หากไปพบแพทย์แล้วไม่ให้ยา ไม่รักษา ไม่ทำไรทั้งสิ้น นอนดูอาการอย่างเดียวละก็รีบย้ายโรงพยาบาลเลยครับ เพราะมันเคยมีกรณีที่แพทย์ให้นอนดูอาการอย่างเดียวจนคนไข้ทรุดก็มี ฉะนั้น เราควรรู้เท่า ถึงการณ์ไว้ก่อนเป็นดีที่สุดครับ


- รักษาหลอดเลือดสมองแตก : กรณีนี้อาจมีการผ่าตัดร่วมด้วยนะครับ หากผู้ป่วยมีปริมาณเลือดออกในสมองมาก โดยเป้าหมายหลักของการรักษาในกลุ่มโรคนี้คือ การควบคุมปริมาณเลือดที่ไหลออกมานั่นเองครับผม


การฟื้นฟู ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง


การฟื้นฟูจะเป็นหน้าที่หลักของนักกายภาพแล้วครับคราวนี้ เป้าหมายมีอยู่อย่างเดียวเลยครับ คือ ให้ผู้ป่วยหลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด แต่รูปแบบการรักษาจะแตกต่างกันออกไปบ้างตามอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยอาการหนักมาก คือ อ่อนแรงสุดๆ เกรดกำลังกล้ามเนื้อเป็น 0 เลย นักกายภาพจะเน้นการขยับข้อต่อเพื่อป้องกันข้อติด และคอยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อทำงาน หากไปโรงบาลแล้วเห็นนักกายภาพยกแขนยกขาผู้ป่วยฮึ่บฮั่บ ฮึ่บฮับนั่นแหละครับ คือ การฟื้นฟูในระยะเริ่มต้น แล้วจากประสบการณ์การฟื้นฟูผู้ป่วยของผมเองมักเห็นญาติผู้ป่วยถ่ายรูปตอนผมฟื้นฟูผู้ป่วยอยู่ พอถ่ายได้ครบทุกท่าแล้วก็ยกเลิกการทำกายภาพไปเลย เพราะเข้าใจว่าแค่ยกแขนยกขาไปเรื่อยๆเดี๋ยวผู้ป่วยก็หายเอง ฮาๆๆ จริงๆมันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะมากกกกกกกกก


หากผู้ป่วยมีกำลังกล้ามเนื้อมากขึ้นมาหน่อย นักกายภาพก็จะฝึกการทรงตัวในท่านั่ง ท่ายืน ฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง ฝึกควบคุมการเหยียดงอ-เข่า ฝึกการก้าวขา ฝึกการกระดกข้อเท้า ฝึกการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปหากล้ามเนื้อมัดเล็กของแขน ฝึกการเดินขึ้นบันได แล้วก็ฝึกอะไรอีกหลายอย่างจิปาถะอีกเพียบเลยครับ หากคิดว่าแค่ยกแขนยกขาแล้วจะหายละก็เป็นความคิดที่ผิดมหันต์เลยทีเดียวนะ


ส่วนระยะเวลาในการฟื้นฟูก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย และระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นด้วยนะครับ เพราะหากได้หมอดีแต่ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาก็ไร้ประโยชน์ครับ เพราะการทำกายภาพมันคือการให้ผู้ป่วยออกแรงเคลื่อนไหวร่างกายเองโดยมีนักกายภาพคอยช่วยไกด์ ไม่ใช่นักกายภาพมาทำให้แล้วผู้ป่วยจะหายเอง หากใครมีญาติเป็นโรคนี้อยู่ต้องหมั่นคอยให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอนะครับ ผมว่ากำลังใจสำคัญมากกว่าความสามารถของหมอซะอีกนะ^^

 

เครดิตภาพ

- http://www.bbc.com/news/health-32690040

- http://www.kalasin3.go.th/view.php?article_id=27679

- http://brainpictures.org/p/130/stroke-brain/picture-130

- www.doobody.com

- http://fescenter.org/clinical-programs/current-clinical-trials/stroke-programs/

03 กรกฎาคม 2559

ผู้ชม 13346 ครั้ง

    Engine by shopup.com