shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12166404

ดูบทความหักแน่ๆ หากใช้มือยันพื้นตอนล้ม กับวิธีการดูแลตนเองขณะใส่เฝือก

หักแน่ๆ หากใช้มือยันพื้นตอนล้ม กับวิธีการดูแลตนเองขณะใส่เฝือก


กระดูกข้อมือหัก (colles fracture)


กระดูกข้อมือหัก จริงๆแล้วข้อมือมันไม่ได้หักจริงๆหรอกครับ ส่วนที่หักนั่นคือ ส่วนปลายของกระดูกท่อนแขนที่มีชื่อว่ากระดูก radius (เรเดียส) เพราะที่ส่วนปลายของกระดูก radius จะเป็นลักษณะปุ่มนูนยื่นออกมา เมื่อเราล้มแล้วใช้มือยันพื้นจะทำให้ปุ่นนูนส่วนนี้รับแรงกระแทกเต็มๆจนหักในที่สุด โดยส่วนมากมักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เพราะมีภาวะกระดูกพรุนและกระดูกบางร่วมด้วย

 

ภาพแสดงกระดูกท่อนแขน radius และ ulna


อาการของของ colles fracture


- ข้อมือจะบวม แดงขึ้นมา และเมื่อปล่อยทิ้งไว้จะยิ่งทำให้ข้อมือบวมมากขึ้นเรื่อยๆ

- ปวดที่ข้อมือ และปวดมากขึ้นเมื่อพยายามเคลื่อนไหวมือ

- ไม่สามารถขยับข้อมือได้เต็มที่

- ใช้มือจับบริเวณข้อมือจะรู้สึกว่าข้อมืออุ่นขึ้นเมื่อเทียบกับข้างปกติ


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะข้อมือหัก


- ผู้สูงอายุ

- ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง

- ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนจะทำให้มวลกระดูกลดน้อยลง

- มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการล้มง่าย เช่น พื้นลื่น หรือชอบปั่นจักรยาน ในกรณีที่ปั่นจักรยานแล้วล้มห้ามใช้มือยันพื้นนะครับ แต่ให้เอามือจับแฮนด์ไว้ตามปกติ เพื่อให้แฮนด์เป็นตัวกระแทกพื้นแทนที่จะใช้มือ

- กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ไม่ค่ีอยได้ออกกำลังกาย


การรักษาเมื่อรู้สึกว่าข้อมือหัก


การรักษาในเบื้องต้น ให้นำวัสดุที่มีความแข็งแรง เช่น ไม้ หรือเหล็กมาดามบริเวณข้อมือไว้เพื่อไม่ให้กระดูกหักเพิ่มมากขึ้น แล้วนำนํ้าแข็งประคบเพื่อลดปวดลดบวม และห้ามนวด ทายาที่มีฤทธิ์ร้อน หรือประคบนํ้าอุ่นโดยเด็ดขาดนะครับ มิเช่นนั้นจะทำให้ข้อบวมและอักเสบเพิ่มมากขึ้น


การรักษาโดยแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะ X-ray กระดูกข้อมือดูก่อนครับว่า กระดูกหักรุนแรงมากแค่ไหน จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ หรือแค่ใส่เฝือกอ่อนก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการรักษาจะแบ่งตามความรุนแรงได้ 3 แบบนะครับ


1) ไม่ต้องผ่าตัด เพียงแค่ดึงกระดูกให้เข้าที่แล้วใส่เฝือกเพื่อไม่ให้กระดูกเคลื่อน

2) จัดกระดูกให้เข้าที่ แล้วใช้ลวดเสียบกระดูกให้อยู่ในสภาพที่ต้องการแล้วเข้าเฝือก

3) การผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกให้เข้าที่ พร้อมกับดามด้วยโลหะ

 

ภาพ X-ray แสดงปลายกระดูก radius ที่หัก


การดูแลตนเองในขณะใส่เฝือก


- ขณะนอนควรยกแขนข้างที่ใส่เฝือกให้สูงกว่าหัวใจ เพื่อป้องกันไม่ให้แขนบวม

- หมั่นขยับข้อมือ กำมือ เหยียดมือเป็นประจำแม้ว่าจะใส่เฝือกอยู่ก็ตาม เพื่อป้องกันการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อและป้องกันการเกิดข้อติดแข็ง แล้วที่สำคัญก็คือ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค shoulder hand syndrome ตามมาได้ ใครที่ใส่เฝือกหรือมีญาติเป็นอัมพาตอยู่ควรรู้จักโรคไว้ให้ดี เพราะเป็นโรคที่มาคู่กันเลยละครับ (รายละเอียดโรค shoulder hand syndrome)

- อย่าให้นํ้าเข้าไปในเฝือก เพราะอาจทำให้แผลเปื่อย เน่าได้

- หากมีอาการปวดที่ข้อมือ ใช้ ice pack ประคบบริเวณที่ปวดผ่านเฝือก เพื่อให้ไอเย็นช่วยลดปวด แต่ไม่ควรใช้นํ้าแข็งเพราะนํ้าแข็งที่ละลายอาจทำให้เกิดหยดนํ้าซึมเข้าไปในเฝือกจนแผลเปื่อยได้


หลังจากถอดเฝือกแล้วควรทำอย่างไรต่อ?


โดยส่วนใหญ่ที่พบเจอผู้ป่วยมา มักเข้าใจว่าถิดเฝือกเสร็จแล้ว แผลหายแล้ว กระดูกเชื่อมติดดีแล้วก็จบกัน แต่ยังครับผม เพราะผู้ป่วยที่ใส่เฝือกเป็นเวลานานทุกคนจะพบปัญหาเหมือนกันหมดคือ ภาวะข้อติดแข็ง ซึ่งต้องเข้าพบนักกายภาพต่อไป เพื่อดัดข้อที่ติดแข็งให้กลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆข้อด้วย มิเช่นนั้น ผู้ป่วยอาจใช้งานข้อมือได้ไม่เจ็มที่และเกิดภาวะข้อมือติดแข็งอย่างถาวรนั่นเองครับผม ซึ่งกระบวนการทำกายภาพเฉลี่ยแล้วประมาณ 1 เดือนนะครับ

 

เครดิตภาพ

- http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/broken-wrist/multimedia/colles-fracture/img-20006712

- https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/imagepages/9205.htm

- https://www.studyblue.com/notes/note/n/common-fractures/deck/14272321

 

22 พฤษภาคม 2559

ผู้ชม 84061 ครั้ง

    Engine by shopup.com