shopup.com

สถิติผู้เข้าชมเว็บ

12141404

ดูบทความชาปลายมือ โรคที่สับสนว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น

ชาปลายมือ โรคที่สับสนว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้น

โรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)

 
เมื่อมีอาการชาที่แขนหรือชาที่มือทั้งเช้าสายบ่ายเย็น จนรบกวนชีวิตประจำวันของเราๆท่านๆไม่มากก็น้อย ซึ่งจากอาการดังกล่าวหลายคนมักจะนึกถึงโรคอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับการกดทับเส้นประสาท โดยเฉพาะโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่คอ หรือโรคกระดูกคอเสื่อม เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกโรคหนึ่งที่มีอาการใกล้เคียงกัน นั่นก็คือโรค Carpal tunnel syndrome (โรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ) เรามารู้จักเจ้าโรคนี้กันดีกว่า
 
เป็นกลุ่มโรคเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดพังผืดที่หนาตัวขึ้นบริเวณข้อมือทางด้านฝ่ามือ แล้วไปกดทับเส้นประสาท median nerve ที่บริเวณข้อมือ ซึ่งบริเวณข้อมือจะมีลักษณะเป็นโพรงที่ประกอบไปด้วยผนังด้านหน้ามีเส้นเอ็นที่ชื่อว่า tranverse carpal ligament ถ้าเส้นเอ็นนี้เกิดตึงตัวมากๆจะทำให้โพรงภายในข้อมือตีบแคบลง ทำให้เส้นเอ็น tranverse carpal ligament ไปกดทับเส้นประสาท median nerve จนเกิดอาการปวด ชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางได้นั่นเองครับ
 
แสดงตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับโดย transverse carpal ligament
 
median nerve คืออะไร ?
 
median nerve คือ 1 ใน 3 ของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อแขนและมือ โดยที่มือนั้นเส้นประสาท median จะเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางบางส่วน ซึ่งจะทำหน้าที่รับความรู้สึกและส่งสัญญาณประสาทให้กล้ามเนื้อทำงาน และเมื่อเส้นประสาท median ถูกกดทับที่ข้อมือ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ป่วยจะมีอาการชาบริเวณนิ้วโป้งจนถึงนิ้วนาง ซึ่งจะต่างจากเส้นประสาทถูกกดทับที่คอ อันนั้นจะมีอาการชาที่แขนและมือร่วมกันตามแต่ว่าเส้นประสาทถูกกดทับที่เส้นไหนนั่นเองครับ 
 
หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆเลยก็คือ โรค Carpal tunnel syndrome จะชาแค่บริเวณมือ ส่วนเส้นประสาทถูกทับที่คอนั้นจะชาบริเวณแขนเป็นหลักครับ 
 
ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานนอกจากอาการชา อาการปวดแล้วจะพบว่ากล้ามเนื้อมือทางฝั่งนิ้วโป้งจะฝ่อลีบลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับมือข้างปกติ นอกจากนี้กำลังกล้ามเนื้อมือจะลดลงอีกด้วย โดยสังเกตุได้จากแรงบีบที่น้อยลง ถือขวดนํ้าแล้วมีความรู้สึกว่ากำได้ไม่แน่น ถือสิ่งของแล้วของมักจะหล่นบ่อยๆ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นล้วนเป็นผลมาจากเส้นประสาทถูกกดทับทำให้สัญญาณประสาทส่งไปไม่ถึงกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ หรือส่งถึงแต่ส่งได้น้อย ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่ส่งลงมาจากประสาทส่วนกลางได้ เมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้งานน้อยลงๆกล้ามเนื้อจึงเกิดการฝ่อลีบในที่สุด
 
 
 ภาพแสดงการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อจากเส้นประสาทถูกกดทับมานาน
 
สาเหตุของโรค Carpal tunnel syndrome
 
มักเกิดจากการใช้ข้อมือและมือซํ้าๆกันเป็นเวลานาน โดยมากมักพบในกลุ่มคนที่พิมพ์งานคอมพิวเตอร์ เพราะต้องวางข้อมือลงกับโต๊ะที่เป็นของแข็ง  นอกจากนี้ยังพบในคนที่เขียนหนังสือ, ทํางานเย็บปักถักร้อย, ใช้เครื่องมือที่สั่นสะเทือนต่อข้อมือบ่อยๆ เช่น ช่างที่เจาะถนน การทำงานที่กระดกข้อมือซํ้าๆกัน เป็นต้น 
 
อาการของผู้ที่เป็น Carpal tunnel syndrome
 
- มีอาการชาที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง
- ปวดบริเวณข้อมือ ปวดตลอดเวลา และปวดมากขึ้นเมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่ข้มือ หรือปวดมากขึ้นขณะนั่งพิมพ์งานคอมพิวเตอร์
- มืออ่อนแรง หยิบสิ่งของได้ไม่เต็มที่ เมื่อจับสิ่งของแล้วจะหลุดจากมือได้ง่าย กำมือได้ไม่สุดแต่ถ้าใช้มืออีกข้างช่วยดันก็สามารถกำสุดได้ 
- รู้สึกเมื่อยมือได้ง่าย เมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือในชีวิตประจำวัน เช่น ถือหนังสือ ถือแก้วกาแฟ หรือถือสิ่งของใดๆก็ตามจะถือได้ไม่นานก็จะเกิดอาการเมื่อยล้า
- กล้ามเนื้อฝ่อลีบ โดยจะเฉพาะตรงโคนนิ้วโป้งจะเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับมือข้างปกติ
 
ภาพแสดงบริเวณที่มือชาของโรค Carpal tunnel syndrome
 
การดูแลรักษา
 
"การป้องกันนั้นง่ายกว่าการรักษา" สำหรับโรคนี้เหมาะกับประโยคดังกล่าวมากที่สุดเลยครับ เพราะหายช้ามากถ้าเป็นโรคนี้ เนื่องจากมือเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆก็ตามเราต้องใช้มือแทบทั้งสิ้นและที่สำคัญคือ มันมักจะเป็นข้างที่ถนัดซะด้วย 
 
ดังนั้น วิธีการดูแลในเบื้องต้นก็คือ..
1) ให้พักการใช้งานของมือข้างที่มีอาการไปก่อนเลยครับ เพื่อไม่ให้เป็นการกระตุ้นเส้นเอ็นตึงตัวมากขึ้นกว่าเดิม 
2) หมั่นแช่นํ้าอุ่น 10-15 นาที ทุกๆเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน เพื่อให้เส้นเอ็น tranverse carpal ligament อ่อนตัวลง การกดทับเส้นประสาทก็จะน้อยลง อาการปวดอาการชาจะทุเลาลงตามมาครับ แต่ก็ใช้เวลานานพอสมควรเลยนะครับกว่าจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ต้องให้เวลากับมันหน่อยนะ
3) หมั่นนวดคลึง และยืดกล้ามเนื้อมือทุกวัน โดยการใช้มือเรานี่แหละครับกดนวดบริเวณข้อมือ แต่การนวดนั้นควรทำอย่างละมุนละม่อมนะครับ ไม่ใช่ยิ่งเจ็บยิ่งดี เพราะการที่กดแรงๆนวดแรงๆจนรู้สึกเจ็บนั้นจะไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆข้อมือตึงตัวมากกว่าเดิม อาการปวดแทนที่จะเบากลับกลายเป็นมากกว่าเดิมอีกครับ อันนี้เคยเจอมากับตัว * *!
4) ในรายที่ทำงานหน้าคอม หรือต้องพิมพ์งานบ่อยๆ ควรหาแผ่นเจลสำหรับรองข้อมือ ผ้านุ่มๆ หรือฟองนํ้ามารองข้อมือขณะพิมพ์แป้นคีย์บอร์ด เพื่อเป็นการลดการเสียดสีและลดการกระตุ้นของเส้นเอ็นไม่ให้ตึงตัวมากขึ้น
ที่รองมือแบบฉบับทำเองของผมครับ^^
 
แต่ถ้าทำทุกอย่างมาหมดแล้ว อาการไม่ดีขึ้นเลย แนะนำให้เข้าพบแพทย์หรือนักกกายภาพบำบัดนะครับ ซึ่งการรักษาของแพทย์จะให้ยาลดปวดมาทานและฉีดยาสเตียรอยด์ที่ข้อมือ กว่า 80% พบว่าอาการปวดดีขึ้น พูดง่ายๆคือฉีดปุ้บหายปั้บ แต่ผลข้างเคียงในระยะยาวก็มีมากเช่นกัน ดังนั้น ภายใน 1 ปีแพทย์จะฉีกสเตียรอยด์ให้ไม่เกิน 2 ครั้ง
 
ส่วนการรักษาทางกายภาพนั้นจะใช้เครื่องมือทางกายภาพเพื่อลดปวดและคลายเส้นเอ็นที่ตึงตัวอยู่ เช่น laser, ultrasound, shortwave, microwave, การจุ่มไขพาราฟิน เป็นต้น ซึ่งในช่วงแรกผู้ป่วยอาจจะต้องเข้ารับการรักษาทุกวันเลยละครับ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดนะครับ และเมื่ออาการทุเลาลง นักกายภาพจะแนะนำวิธีการยืดกล้ามเนื้อมือและการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมือในรายที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนฝ่อลีบ แต่ในรายที่มีอาการชาร่วมด้วยจะใช้การกระตุ้นไฟฟ้าบริเวณที่ชา เพื่อลดอาการชาร่วมด้วยครับผม
 
นอกจากการักษาของแพทย์และกายภาพบำบัดแล้วก็ยังมีการรักษาจากแพทย์แผนจีน การฝังเข็ม แพทย์แผนไทย ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่ได้ผลดีไม่แพ้กันนะครับ^^
 
คลิป : 5 วิธีลดปวด ลดชา ที่ข้อมือ นิ้วมือ (5 วิธีลดปวด ลดชา ที่ข้อมือ นิ้วมือจากโรค carpal tunnel syndrome)
 
เครดิตภาพ 
- http://www.houstonmethodist.org/orthopedics/where-does-it-hurt/hand/carpal-tunnel-syndrome/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carpal_tunnel_syndrome
- http://umm.edu/health/medical/reports/articles/carpal-tunnel-syndrome
- http://blackpearphysio.co.uk/emergency-advice-on-back-injury/carpal-tunnel-syndrome/

12 ตุลาคม 2559

ผู้ชม 22133 ครั้ง

    Engine by shopup.com